การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก จะทำเพื่อวินิจฉัยความผิดปกติต่างๆที่เกิดขึ้นภายในมดลูก เช่น เนื้องอกในโพรงมดลูกชนิดต่างๆ พังผืด การอักเสบติดเชื้อ หรือความผิดปกติของรูปร่างของมดลูก ซึ่งไม่สามารถวินิจฉัยได้แน่ชัดจากการอัลตราซาวด์ หรือการฉีดสีเอกซเรย์
เมื่อใดที่เหมาะสมในการเข้ารับการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก
- มีประจำเดือนผิดปกติที่สงสัยว่ามีติ่งเนื้อ เนื้องอกหรือพังผืดในโพรงมดลูก
- ช่วยในการวินิจฉัยสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก
- แก้ไขผนังกั้นผิดปกติของมดลูกที่มีมาแต่กำเนิด
- มีติ่งเนื้อ,เนื้องอกในโพรงมดลูก
วิธีการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก
- ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำโดยต้องงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนการทำการตรวจ เนื่องจากในระหว่างที่ทำการตรวจผู้ป่วยจะได้รับยาระงับความรู้สึก ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อต่างๆมีการคลายตัวรวมทั้งกล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะอาหาร ดังนั้นเพื่อป้องกันการสำลักอาหารในระหว่างที่ผู้ป่วยนอนหลับจึงจำเป็นต้องเตรียมกระเพาะอาหารให้ว่างก่อนทำการตรวจ
- ก่อนทำการตรวจวิสัญญีแพทย์จะทำการฉีดยาระงับความรู้สึกให้ทางหลอดเลือดดำ หลังจากนั้น 1-2 นาทีผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกง่วงนอนและหลับไป
- แพทย์จะใส่เครื่องมือขยายช่องคลอด เพื่อให้สามารถมองเห็นปากมดลูกได้ชัดเจนก่อน
- หลังจากนั้นแพทย์จะนำกล้องสำหรับตรวจโพรงมดลูก สอดผ่านปากมดลูก เข้าไปยังโพรงมดลูก เพื่อทำการตรวจและบันทึกภาพวิดีโอ หากสงสัยว่ามีการติดเชื้อภายในโพรงมดลูก แพทย์จะนำสารคัดหลั่งจากภายในโพรงมดลูกออกมาทำการตรวจเพาะเชื้อด้วย
- การตรวจใช้เวลา 10-15 นาที และผู้ป่วยจะรู้สึกตัวหลังจากนั้น 10-35 นาที
- หลังจากที่ผู้ป่วยรู้สึกตัวดี จะได้เข้าพบแพทย์เพื่อดูภาพวิดีโอผลการตรวจ และแนวทางการรักษา
ข้อบ่งชี้ในการตรวจส่องกล้องโพรงมดลูก
- วินิจฉัยโรคในโพรงมดลูก
- วินิจฉัยภาวะมีบุตรยาก
ข้อดีในการเข้ารับการส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก
- ไม่มีแผลผ่าตัดทางหน้าท้อง
- เกิดพังผืดหลังการส่องกล้องน้อย และสามารถเก็บรักษามดลูกได้ดีกว่าการผ่าตัดแบบเดิม
- ระยะในการฟื้นตัวสั้น สามารถไปทำงานได้ใน 1 สัปดาห์
- เพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ ในผู้ป่วยที่มีบุตรยากที่มีความผิดปกติในโพรงมดลูก
ความเสี่ยงในการตรวจ
หากตรวจในขณะตั้งครรภ์อยู่อาจส่งผลให้เกิดการแท้งบุตรได้ ดังนั้นจึงต้องมั่นใจว่าไม่ได้ทำการตรวจในขณะตั้งครรภ์ โดยแพทย์อาจสอบถามถึงประจำเดือนครั้งล่าสุดหรือจากผลการตรวจเลือดหรือตรวจปัสสาวะเพื่อทดสอบการตั้งครรภ์ก่อนทำ