โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก

  • อาการและอาการแสดง
  • การรักษาทางกายภาพบำบัด

อาการหน้าเบี้ยวครึ่งซีก ( Bell’s Palsy ) คือ อาการที่เกิดจากการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าครึ่งซีก ทำให้ไม่สามารถขยับใบหน้าซีกนั้นได้เป็นผลจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ซึ่งควบคุมการเคลื่อนไหวของ กล้ามเนื้อแสดงสีหน้าไม่ทำงาน ซึ่งไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าเป็นการอักเสบของงเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 หรือเป็นผลมาจากการติดเชื้อไวรัส

อาการแสดง

  • เมื่อดื่มน้ำจะมีน้ำไหลจากมุมปาก
  • รู้สึกชาหรือตึงบริเวณใบหน้าครึ่งซีก
  • ยักคิ้วไม่ขึ้น
  • ปากเบี้ยว ยิ้มไม่เท่ากัน มุมปากตก พูดไม่ชัด
  • อาจมีอาการปวดหูและได้ยินเสียงดังมากผิดปกติในหูข้างเดียวกัน
  • ไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ตามปกติ หรือมีเศษอาหารตกค้างอยู่บริเวณกระพุ้งแก้มข้างที่มีอาการ

การรักษาทางกายภาพบำบัด

      มีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกกระตุ้นกล้ามเนื้อใบหน้าที่อ่อนแรงให้ทำงาน เพื่อรอการฟื้นตัวของเส้นประสาท ประกอบด้วย

  1. ประคบร้อนที่บริเวณใบหน้าซีกที่อ่อนแรง ใช้เวลาประมาณ 10-15 นาทีต่อครั้ง วันละ 1-2 ครั้ง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด และลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อใบหน้า แต่ควรระวังการประคบร้อนในรายที่มีอาการชาของใบหน้า
  2. กระตุ้นกล้ามเนื้อใบหน้าที่มีอาการอ่อนแรงด้วยไฟฟ้า เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อมีการหดคลายตัว เป็นการชะลอการฝ่อ ลีบ ของกล้ามเนื้อ มักใช้ในรายที่กล้ามเนื้ออ่อนแรงทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด มักใช้ได้ผลดีในรายที่มีข้อบ่งชี้ว่าจะมีการฟื้นตัวของเส้นประสาท
  3. การนวดใบหน้า เป็นการใช้ปลายนิ้วนวดคลึงใบหน้าเบาๆ ช้าๆ ตามแนวกล้ามเนื้อใบหน้าแต่ละมัดเพื่อช่วยการเพิ่มไหลเวียนของเลือดและลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อใบหน้า
  4. การบริหารกล้ามเนื้อใบหน้า เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าที่ยังอ่อนแรงโดยบริหารท่าละ 15-20 ครั้งต่อรอบ ทำอย่างน้อย 3 รอบต่อวัน

ท่าที่ 1 เลิกคิ้ว

ท่าที่ 2 หลับตาปี๋

ท่าที่ 3 ย่นจมูก

ท่าที่ 4 ห่อริมฝีปาก

ท่าที่ 5 ยิ้ม

ท่าที่ 6 ยิงฟัน

ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองและระบบประสาท ( Stroke and Neurology Center )