ทำอย่างไรเมื่อลูกมีภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด

  • ภาวะตัวเหลืองที่สูงมากโดยเฉพาะในระดับอันตรายต้องรักษาในโรงพยาบาลเพราะอาจเป็นอันตรายต่อสมอง เช่น ปัญญาอ่อนและพิการได้
  • ทารกทุกราย แพทย์จะนัดมาติดตามภาวะตัวเหลืองภายใน 48 – 96 ชั่วโมงหลังกลับบ้าน
  • ทารก 2 – 10% อาจต้องรักษา

ภาวะตัวเหลือง (Jaundice) เป็นภาวะที่ร่างกายมีสารสีเหลืองในเลือดสูงที่เรียกว่า บิลิรูบิน(Bilirubin) สารสีเหลืองนี้จะไปเกาะตามส่วนต่างๆ ของร่างกายทำให้สี่ผิวหรือสีตาขาวของลูกตามีสีเหลือง โดยจะเหลืองไล่จากใบหน้าไปสู่เท้าเมื่อสารมากขึ้น และจะเหลืองสูงสุดประมาณ 3-5 วัน แล้วค่อยๆ ลดลงจนหาย การประเมินด้วยสายตาอาจจะยาก ดังนั้นจึงต้องวัดค่าสารเหลืองด้วยการตรวจที่ผิวหนังหรือเจาะเลือดตรวจ แม้ทารกจะมีสุขภาพแข็งแรงดี ก็อาจจะมีตัวเหลืองได้ประมาณ 60 – 70% แต่ต้องการรักษา 2 – 10%

ทำไมลูกจึงตัวเหลือง

1. ตัวเหลืองแบบปกติของทารกแรกเกิด

  • เม็ดเลือดแดงมีการแตกทำลายและสร้างใหม่เป็นปกติ แต่ในทารกจะเกิดในอัตราเร็วกว่าผู้ใหญ่ สารฮีนในเม็ดเลือดแดงจะถูกเปลี่ยนเป็นสารสีเหลืองบิลิรูมินและตับของทารกยังทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์จึงขับสารเหลืองออกจากร่างกายยังได้ไม่ดี
  • กินนมแม่อย่างเดียวและน้ำหนักลดลงมากหรือขึ้นน้อย

2. สาเหตุที่ทำให้ตัวเหลืองมากกว่าปกติ เช่น กลุ่มเลือดของมารดาและทารกไม่เท่ากันเอมไซม์ G-6 PD เม็ดเลือดแดงต่ำ, ความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดงมาก คลอดก่อนอายุครรภ์ 38 สัปดาห์ โดยเฉพาะคลอดก่อนกำหนด, ภาวะบางอย่าง เช่น ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ ภาวะติดเชื้อ

3.ตัวเหลืองจะเห็นเหลืองไล่จากหน้ามาถึงเท้า หากพบว่าตัวมีสีเหลืองหรือส้มมาถึงหน้าแข้งควรมาพบแพทย์ก่อนนัด

(ห้ามทายาที่เท้า เช่น มหาหิงค์ หรือขมิ้นจะให้ไม่สามารถประเมินสีได้)

4. การประเมินด้วยสายตาควรอยู่ภายใต้แสงที่สว่างดี เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ แบบ Daylight จะทำให้ดูสีได้ถูกต้อง ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้กดลงที่ผิวหนังแล้วแยกนิ้วออกขณะกด เทียบสีกับใบหน้าว่ามีสีเหลืองหรือส้มหรือไม่

5. ประเมินด้วยสายตาอาจยากหรือผิดพลาดเนื่องจากสีผิวเดิมขอทารก ดังนั้นเพื่อความแม่นยำ แพทย์จึงตรวจด้วยเครื่องวัดสีที่ผิวหนังหรือเจาะเลือดตรวจ

6.หากตัวเหลืองนานกว่า 14 – 21 วัน หรืออุจจาระซีดขาว หรือตัวเหลืองร่วมกับอาการเจ็บป่วย เช่น มีไข้ ซึม ดูดนมลดลง ไม่ค่อยขยับแขนขา ควรมาพบแพทย์

การป้องกันและรักษาภาวะตัวเหลือง

1.ดูดนมแม่จากเต้าอย่างน้อย 8 มื้อต่อวัน หากนมยังน้อยในช่วงแรก ควรดูด 10 – 12 ครั้งต่อวัน จนนมแม่ไหลดี

  • ถ้าดูดนมแม่เพียงพอ ลูกจะถ่ายอุจจาระ 3 – 4 ครั้งต่อวัน ปัสสาวะ 4 – 6 ครั้งต่อวัน ถ้าคิดว่ากินนมแม่ไม่พอ ควรปรึกษาแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์

2.เมื่อตรวจพบว่าสารเหลืองสูง

  • กรณีสูงไม่มาก ไม่ต้องรักษา ทารกสามารถขับสารสีเหลืองออกมาเองได้
  • หากสูงต้องรักษา (โดยดูตามกราฟมาตรฐาน) ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล และให้การรักษา ด้วยการส่อง ไฟแสงสีฟ้า (Special blue /deep blue) ซึ่งจะทำปฏิกิริยากับสารสีเหลืองให้เปลี่ยนโครงสร้างเป็นสารที่ขับออกทางอุจจาระปัสสาวะได้ง่าย, ขณะส่องไฟจะถอดเสื้อผ้าทารก ปิดตา และเจาะเลือดตรวจดู ระดับสารสีเหลืองเป็นระยะๆจนลดลงในระดับที่ปลอดภัย

3.การเปลี่ยนถ่ายเลือดจะทำเมื่อสารสีเหลืองสูงวิกฤตอาจจะเป็นอันตรายต่อเสมอง

4.การให้ยาอื่น พิจารณาตามสาเหตุโรคเป็นรายๆไป