ติด…สุรา

               องค์การอนามัยโลกได้ให้คำนิยามของโรคติดสุราไว้ว่า หมายถึง ภาวะที่ผู้ดื่มสุรา รวมทั้งเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมหลักอื่นๆ เช่น เบียร์ วิสกี้ ไวน์ ฯลฯ ดื่มเป็นประจำ โดยจะต้องมีลักษณะอาการต่างๆต่อไปนี้ตังแต่ 3 อย่างขึ้นไปคือ

  1. มีความต้องการดื่มอย่างมากจนไม่สามารถทนรอได้
  2. ไม่สามารถควบคุมตนองในการดื่มได้ ทั้งในแง่ของปริมาณและระยะเวลาที่ดื่ม
  3. มีการเพิ่มปริมาณสุราที่ดื่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากร่างกาย (สมอง) เกิดการดื้อแอลกอฮอล์
  4. เมื่อหยุดดื่มกะทันหันหรือลดปริมาณดื่มลงจะมีอาการทั้งร่างกายและจิตใจได้หลายอย่าง เช่น เหงื่อออก มือสั่น หงุดหงิดกระวนกระวาย ประสาทหลอน เพ้อหรือชักได้
  5. ไม่สนใจทำงาน หรือทำกิจกรรมในชีวิตที่เคยชอบทำแต่จะใช้เวลาไปกับการดื่มยาวนานขึ้น เมื่อหยุดดื่มต้องใช้เวลานานมากขึ้นกว่าจะสร่างเมา
  6. ยังคงดื่มสุราต่อไปทั้งๆ ที่ผู้ป่วยทราบว่าเกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างชัดเจนแล้วก็ตาม เช่น ตับแข็ง ตับอักเสบ ผลต่อความทรงจำ และระดับสติสัมปชัญญะซึ่งส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงาน

อาการทางคลินิกอันเนื่องมาจากการดื่มสุรา

               ผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ ติดต่อกันเป็นเวลานานหลายเดือนหรือแรมปีรวมทั้งผู้ที่ดื่มเป็นครั้งคราวแต่ดื่มครั้งละมากๆ เช่น ดื่มวันสุดท้ายของสัปดาห์ งานฉลองต่างๆ จะมีอาการผิดปกติได้หลายระดับความรุนแรง ในที่นี้จะขอกล่าวอาการทางคลินิกที่จำเป็นต้องได้รับการบำบัด มิฉะนั้นอาจเกิดอันตรายได้

  1.  ภาวะจากพิษแอลกอฮอล์ เกิดจากการดื่มสุราคราวละมากๆ จนแอลกอฮอล์ในเลือดสูงถึงระดับที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านการเคลื่อนไหวระดับรู้สึกตัว การควบคุมความคิด อารมณ์และพฤติกรรมโดยที่อาการจะเริ่มจากน้อยไปหามาก ดังนี้
  2. อารมณ์ครื้นเครงสนุกสนาน ตื่นเต้น
  3. ควบคุมความคิด อารมณ์ยับยั้งชั่งใจไม่ได้ เช่น พูดจาโอ้อวด ระรานผู้อื่น ลวนลามทางเพศ ก้าวร้าว ท้าตีท้าต่อย
  4. พูดจาออแอ้ เดินเซ ควบคุมกล้ามเนื้อแขนขาไม่ได้
  5. เพ้อ คลั่ง
  6. ซึมลงอย่างมาก หมดสติ
  7. ชัก หยุดหายใจ เสียชีวิต

ในกรณีหมดสติโดยไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ เมื่อตื่นขึ้นมาจะจำเหตุการณ์ในขณะเมาไม่ได้

  • ภาวะเพ้อคลั่งและประสาทหลอน พบในผู้ที่ดื่มสุราในปริมาณมากติดต่อกันมาเป็นเวลานานมากเป็นปีๆ เมื่อหยุดดื่มทันทีที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งอันตรายถึงชีวิตได้ ผู้ป่วยจะมีอาการหลังจากหยุดดื่มประมาณ 2-4 วัน
  • มือสั่น เหงื่อออกบริเวณใบหน้าเป็นอย่างมาก
  • แขน ขา ลำตัวเริ่มสั่น เดินโซเซ
  • ไข้สูง พูดจาเริ่มสับสนในเรื่องเวลา สถานที่ และบุคคล
  • ท่าทางหวาดผวา ตกใจง่ายต่อเสียงกระตุ้น และแสงสว่าง
  • หวาดระแวง หวาดกลัวคนปองร้าย
  • เห็นภาพหลอน การแปลภาพผิดจากความจริง เช่น เห็นสายน้ำเกลือเป็นงู เห็นพยาบาลเป็นภูตผี
  • ตรวจร่างกายจะพบความดันโลหิตสูง ชีพจรเต้นเร็วกว่าปกติ หายใจถี่ขึ้น

หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจมีอาการรุนแรงถึงขั้น ชัก เกร็ง หมดสติ หัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตในที่สุด ภาวะเช่นนี้ผู้ป่วยต้องอยูรักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้ได้รับสารอาหาร น้ำ วิตามิน ยารักษาอาการทางจิต ยารักษา อาการชักเกร็ง ยาลดไข้ และอื่นๆ ระยะเวลาในการรักษาประมาณ 10-14 วัน ถึงจะพ้นขีดอันตราย ส่วนอาการประสาทหลอนและอาการทางจิตอื่นๆ อาจใช้เวลานานกว่านี้

  • กลุ่มอาการทางจิตอื่นๆ เป็นกลุ่มอาการทางจิตที่เกิดขึ้นในขณะดื่มภายใน 2 วัน อาการที่พบบ่อยคือ หวาดระแวงว่ามีคนปองร้าย ระแวงว่าคู่ครองนอกใจ ทำให้มีอาการหึงหวงรุนแรง หูแว่ว ได้ยินเสียงคนพูดจาข่มขู่ หรือเยาะเย้ยถากถางทำให้ตื่นกลัวหรือโกรธ ซึ่งเป็นอาการที่คล้ายคลึงกับผู้ป่วยโรคจิตประเภทชนิดหวาดระแวง  บางรายอาจมีอารมณ์ครึกครื้นสนุกสนานอย่างมาก หรืออาจสับสัน ซึมลง ไม่ยอมพูดยอมจา บางรายอาจมีอาการหลายอย่างร่วมกัน อาการต่างๆ จะทุเลาลงในเวลา 1 เดือน แต่อาจหลงเหลืออยู่บ้างจนถึง 6 เดือน ผู้ป่วยบางรายอาจมีการทางจิตหลังจากหยุดดื่มมาแล้ว 2 สัปดาห์ กรณีเช่นนี้ ผู้ป่วยมักอาการผิดปกติด้านความจำ อารมณ์ พฤติกรรมและบุคลิกที่ต่างไปจากเดิม
  • กลุ่มอาการหลงลืม ผู้ป่วยส่วนหนึ่งมีอาการหลงลืมเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านมาไม่นาน ส่วนความจำในอดีตยังคงปกติดีหรือสูญเสียบ้างเล็กน้อย ผู้ป่วยไม่สามารถลำดับเหตุการณ์ก่อนหลังได้ บางรายพยายามพูดกุเรื่องขึ้นมาให้สมจริง ผู้ป่วยไม่สามารเรียนรู้จดจำสิ่งใหม่ๆ ได้ บางรายบุคลิกภาพเปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งมักเป็นแบบเงียบขรึมลง ขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน ไม่สนใจดูแลตัวเอง

การรักษา

แบ่งการรักษาออกเป็น 2 ขั้นตอนใหญ่ๆ คือ

  1. ขั้นแรก เป็นการรักษาอาการแทรกซ้อน ที่เกิดต่อร่างกาย รวมทั้งอาการทางจิตประสาทที่รุนแรงประกอบด้วยการให้สารอาหาร, วิตามิน, ยาบำบัดอาการทางจิตประมาทและยาบำบัดตามอาการอื่นๆ ดังได้กล่าวแล้วตามข้างต้น ระยะเวลาในการรักษาขึ้นอยู่กับชนิดของความผิดปกติตลอดจนสุขภาพร่างกายดั้งเดิมของผู้ป่วยรวมทั้งโรคประจำตัวต่างๆ เช่น เบาหวาน, โรคตับ, ความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจ เป็นต้น โดยทั่วไปอยู่ระหว่าง 2-4 สัปดาห์ อาการบางอย่างอาจอยู่นานแรมเดือน แต่ผู้ป่วยสามารถรักษาตัวต่อที่บ้านได้
  2. ขั้นฟื้นฟูสมรรถภาพ ในที่นี้ หมายถึง การฟื้นฟูด้านกระบวนการความคิด การแก้ปัญหาในชีวิต การรับมือกับความกดดันต่างๆ โดยมีกระบวนการบำบัดรักษาหลักๆ 4 ประการดังนี้
    1. การให้ความรู้ เกี่ยวกับโรคติดสุรา เพื่อให้ผู้ป่วยมีความเข้าใจอย่างถูกต้องในเรื่องพิษภัยของสารแอลกอฮอล์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งขั้นตอนของการเกิด “ภาวะเสพติดสุรา” ทั้งนี้เพื่อให้เกิดแรงจูงใจที่จะเลิกดื่มอย่างถาวรและเต็มใจเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาในขั้นต่อไป
    1. พฤติกรรมบำบัด โดยใช้กิจกรรม “กลุ่มบำบัด” เป็นหลักคือการนำผู้ป่วยจำนวนระหว่าง 4-10 คน มาเข้ากลุ่มพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ทั้งดีและไม่ดี เสริมกำลังใจซึ่งกันและกัน เสนอข้อคิดเห็นที่มีประโยชน์และเรียนรู้แบบอย่างที่ดี กิจกรรมนี้อาจทำได้ทั้งแบบผู้ป่วยใน (อยู่รักษาในโรงพยาบาล) หรือแบบผู้ป่วยนอกโดยการมาพบปะกันสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ในระยะ 2-3 เดือนแรก ครั้งละประมาณ 1 ชั่วโมง และจะกระทำต่อไปจนกว่าผู้ป่วยจะหยุดดื่มสุราได้อย่างต่อเนื่องกัน 6 เดือน ถึง 1 ปี แล้วแต่กรณี
    1. ครอบครัวบำบัด คือการที่สมาชิกในครอบครัวที่มีปัญหาข้อขัดแย้งกับผู้ป่วย หรือมีความสำคัญในชีวิตของผู้ป่วยมาพบแพทย์เพื่อพูดคุยกับแพทย์หรือผู้รักษาเพื่อให้ทราบถึงรายละเอียดของปัญหาและแสวงหาทางออกร่วมกันกับผู้ป่วย ระยะเวลาขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาในแต่ละช่วง
    1. จิตบำบัด หมายถึง การช่วยเหลือผู้ป่วยให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาของตนเองได้ว่าเกิดจากสาเหตุใดบ้างและจะมีแนวทางในการแก้ปัญหาในแต่ละจุดอย่างไรบ้าง เป้าหมายหลักคือการทำให้ผู้ป่วยรู้จักบุคลิกภาพของตนเอง แก้ไขจุดอ่อนและนำจุดแข็งของตนเองออกมาใช้แก้ไขปัญหาในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ