เป้าหมาย : น้ำหนักลดลง 40% ภายใน 1 ปี
ระยะที่ 1 (1-3 วัน หลังการผ่าตัด)
- ต้องฝึกให้กระเพาะของท่านคุ้นเคยกับกระเพาะใหม่ โดยจิบน้ำให้ได้อย่างน้อย วันละ 1 ลิตร และรับประทานอาหารเหลวใสอื่นๆ ที่ไม่มีน้ำตาล ไม่มีกากใย ไม่ใช่น้ำอัดลม ไม่มีรสเผ็ดร้อน เช่น น้ำใบเตย น้ำซุปใส
- วันที่ 2 หลังการผ่าตัด อาจจะเริ่มดื่มนมได้บ้าง และรับประทานอาหารที่ทางโรงพยาบาล จัดเตรียมให้
ระยะที่ 2 (4-7 วัน หลังการผ่าตัด)
- ควรจะเริ่มรับประทานอาหาร เป็นมื้อ โดยเป็นอาหารอ่อนเหลวอยู่ที่มีความเข้มข้นมากขึ้น มีโปรตีนสูง ไขมันต่ำ ไม่มีน้ำตาล ไม่มีกากใย เช่น นมจืดพร่องมันเนย นมเวย์โปรตีนสูง น้ำเต้าหู้ไม่ใส่น้ำตาล โยเกิร์ตรสธรรมชาติ
ระยะที่ 3 (8-14 วัน หลังการผ่าตัด)
- สามารถเริ่มอาหารที่อ่อนนุ่มย่อยง่ายได้ และควรเน้นอาหารที่โปรตีนสูง เช่น ไข่ตุ๋น ไข่ต้ม ปลานึ่ง เต้าหู้ไข่ เกี๊ยวน้ำ ไก่สับ หมูสับ
- การรับประทานอาหารที่ต้องเคี้ยว ควรรับประทานอย่างช้าๆ เคี้ยวให้ละเอียดประมาณ 30 ครั้งก่อนกลืน เมื่อกลืนอาหารเข้าไปแล้ว ควรรอสักประมาณ 2-3 นาที แล้วไตร่ตรองดูว่ารู้สึกอิ่มหรือไม่ ก่อนที่จะเริ่มทานคำต่อไป เพราะกระเพาะอาหารมีขนาดเล็กลง หากรับประทานอาหารเร็วๆ จะเกินความจุของกระเพาะอาหาร ทำให้รู้สึกจุกแน่นและอาเจียน โดยทั้งนี้ ถ้าเริ่มอาหารมื้อแรกการกินไข่ตุ๋น 1-2 ช้อนชา ก็จะทำให้อิ่มแล้ว
- หากท่านอาเจียนมากหลังการผ่าตัดอาจทำให้กระเพาะที่ผ่าตัดไปรั่วได้
- กรณีที่ปฏิบัติตามคำแนะนำแล้ว แต่ยังมีอาการอาเจียนหรือกินไม่ได้ ให้รีบปรึกษาแพทย์ ซึ่งอาจเป็นผลแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดได้ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม เรื่องผลแทรกซ้อนในหัวข้อถัดไป)
- ในช่วงระยะ 1 เดือนแรก อาจรับประทานอาหารเสริมทางการแพทย์ ที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ เช่น ยี่ห้อ Glucerna SR. Once pro, Nutren balance, แทนมื้ออาหารได้ แต่ไม่ควรทานเสริมระหว่างมื้ออาหาร เนื่องจากเป็นอาหารที่มีพลังงานที่ค่อนข้างสูง
* ข้อควรระวัง ผู้เข้ารับการผ่าตัด ควรจะหลีกเลี่ยงการทำให้เกิดอาการอาเจียนในช่วง 2 สัปดาห์แรก
“ให้ตระหนักไว้เสมอว่า โรคอ้วน คือโรคเรื้อรัง จำเป็นต้องคงพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ดีอยู่เสมอ”
ระยะที่ 4 (สัปดาห์ที่ 3 -3 เดือน หลังการผ่าตัด)
ในช่วงนี้ การรับประทานอาหารจะเป็นเรื่องที่คุ้นเคยมากขึ้น อาหารที่รับประทานได้จะหลากหลายมากขึ้น แต่ว่ามีหลักเกณฑ์อาหารที่ควรรับประทานดังนี้
- รับประทานอาหารจำพวกโปรตีน และเนื้อสัตว์ไม่ติดมันเป็นอันดับแรก เช่น ปลาต้ม ปลานึ่ง ปลาย่าง เนื้อไก่ เนื้อหมูไม่ติดมันหรือหนัง เต้าหู้ ไข่ต้ม ไข่ตุ๋น พยายามให้ได้โปรตีนมากกว่า 40 -60 กรัมต่อวัน (1 กรัมของโปรตีนต่อน้ำหนักคนไข้ 1 กิโลกรัม) หรือเน้นโปรตีนประมาณครึ่งหนึ่งของมื้ออาหาร
- หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป เช่น ลูกชิ้น หมูยอ ไส้กรอก เกี๊ยวหมูสับ เพราะมีแป้งและไขมันมาก สามารถรับประทานผักและผลไม้ได้ โดยเป็นคำสุดท้ายของมื้ออาหารไม่ควรเอาผลไม้มาทานระหว่างมื้อเป็นมื้อว่าง เพราะจะทำให้น้ำหนักลงได้ไม่ดี หากต้องการเพิ่มโปรตีน สามารถหาซื้อเวย์โปรตีน ที่ไม่มีน้ำตาลทานเสริมได้ (เวย์ชนิด isolated protein, หรือไม่มีน้ำตาลเท่านั้น)
- รับประทานอาหารเป็นมื้อ 3 มื้อ เมื่อทานอิ่มแล้วให้หยุดกิน หากรู้สึกหิวให้ทานนมพร่องมันเนย นมโปรตีนสูง หรือน้ำวิตามินที่ขายตามร้านสะดวกซื้อได้ แต่ไม่ควรรับประทานของจุบจิบระหว่างมื้อ
- งดน้ำหวานทุกชนิด เช่น ชาเย็น กาแฟเย็น น้ำผลไม้คั้นเอง น้ำผลไม้ 100% นมเปรี้ยว เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้มีแต่น้ำตาลและมีพลังงานที่สูงมากจะทำให้น้ำหนักไม่ลง หากท้องผูกให้หายาระบายรับประทาน ไม่ควรดื่มนมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ต ประเภทเครื่องดื่มที่มีกากใย การรับประทานวิตามินตามแพทย์สั่งสามารถได้รับวิตามินที่เพียงพอแล้ว
- หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกไขมัน ของทอด อาหารจำพวกแป้ง เบเกอรี่ ชานมไทย ขนมซอง
ระยะที่ 5 (3เดือน – 6 เดือน หลังการผ่าตัด)
ในระยะนี้ผู้เข้ารับการผ่าตัด น้ำหนักจะลดลงไป 20-30% จากน้ำหนักตั้งต้น ช่วงนี้บางคนจะเริ่มรับประทานอาหารได้หลากหลายมากขึ้น อาจจะรับประทานได้ปริมาณน้อย หรือรับประทานอาหารได้มากขึ้น แต่บางคนแม้ว่ารับประทานอาหารระหว่างมื้ออิ่มมาก แต่ก็ยังรู้สึกหิวระหว่างมื้อ การผ่าตัดลดน้ำหนักทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้รู้สึกหิวน้อยลงแม้ว่า จะรับประทานอาหารได้น้อย แต่ว่าอย่างไรก็ตามเมื่อน้ำหนักลงมามากประมาณ 20-30% อาจจะรู้สึกหิวมากขึ้นได้ การปรับอาหารสามารถที่จะทำให้ภาวะหิวระหว่างมื้อลดลงได้
- รับประทานอาหารที่แข็งและแห้งขึ้น เช่น อาหารกลุ่มปิ้ง ย่าง ผัด แต่ไม่ใส่น้ำมัน รับประทานอาหารที่ไม่มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลีกเลี่ยงพวกแกงจืด อาหารจำพวก ต้ม ตุ๋น นึ่ง อาจเริ่มกินอาหารประเภทผัด จะทำให้อาหารอยู่ในกระเพาะได้นาน และอิ่มนานมากขึ้น
- หลีกเสี่ยงการดื่มน้ำทันทีหลังรับประทานอาหาร เนื่องจากร่างกายปรับตัวได้แล้ว กระเพาะอาหารจะบีบตัวไล่อาหารได้เร็วขึ้น เมื่อดื่มน้ำตาม ดังนั้นควรเริ่มดื่มน้ำประมาณ 1 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหารแล้ว
- สามารถดื่มเครื่องดื่มประเภทไม่มีพลังงานระหว่างมื้อ เพื่อลดความหิวได้ เช่น น้ำอัดลมไม่มีน้ำตาล น้ำเก๊กฮวย น้ำวิตามิน นมจืดพร่องมันเนย น้ำโปรตีนสูง เวย์โปรตีน ห้ามทานของจุบจิบ เช่น เมล็ดถั่วอบ เมล็ดทานตะวัน ผลไม้ ระหว่างมื้อเนื่องจากมีน้ำตาลสูงและจะทำให้การลดน้ำหนักลดลงได้ไม่ดี
- ถ้ายังหิวมาก อาจเพิ่มข้าวในมื้ออาหารขึ้นสักเล็กน้อยได้ จะสามารถช่วยลดความหิวได้
ระยะที่ 6 (6 เดือน – 1 ปี หลังการผ่าตัด)
ช่วงระยะเวลา เดือนนี้ น้ำหนักอาจจะลดลงได้น้อยแล้ว ซึ่งมากที่สุดอาจจะประมาณ 10% ของน้ำหนักตั้งต้น เช่น ถ้าน้ำหนักเริ่มต้น 100 กิโลกรัมช่วง 6 เดือนแรก ลงมาได้เหลือ 70 กิโลกรัม แสดงว่าช่วง 6 เดือนหลัง อาจจะน้ำหนักลงได้อีก 10 กิโลกรัมในช่วง 6 เดือนที่เหลือ แต่อย่างไรก็ตามถ้าน้ำหนักลดลงอีก ความหิวก็จะมาท้าทายท่านมากขึ้น การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำต่อเนื่องไปตลอด
ระยะที่ 7 (หลังการผ่าตัด 1 ปีขึ้นไป)
ระยะนี้น้ำหนักจะไม่ลงแล้ว แต่ควรจำเป็นต้องมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ดีเสมอไป เพื่อรักษาน้ำหนักให้คงที่ และพลังงานจากอาหารที่แนะนำต่อวันไม่ควรเกิน 1,000 kcal น้ำรวมของเหลว 2 ลิตร/วัน และควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (เนื่องจากการดูดซึมเร็วโอกาสเกิดผลข้างเคียงสูง)
การออกกำลังกาย
- แนะนำการออกกำลังกายแบบแอโรบิก ความหนักระดับปานกลาง (moderate aerobic physical activity) อย่างน้อย150 นาที/สัปดาห์ ค่อยๆ เพิ่มระยะเวลา (เป้าหมาย 300 นาที/ สัปดาห์)
- ควรออกกำลัง เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ 2-3 ครั้ง/สัปดาห์
การรับประทานวิตามินและเกลือแร่เสริม
- หลังการผ่าตัดกระเพาะอาหาร เพื่อรักษาโรคอ้วน อาจเกิดภาวะขาดวิตามิน และเกลือแร่บางชนิด ควรรับประทานวิตามินและเกลือแร่เสริม หลังผ่าตัด 2 สัปดาห์ เช่น Bariavit วันละ 1 เม็ด หรือวิตามินรวม วันละ 2 เม็ด
กิจกรรมประจำวัน
- หลังจากแผลผ่าตัดหาย สามารถประกอบกิจกรรมได้ตามปกติได้ทันที