“มะเร็งต่อมลูกหมากได้รับความสนใจจากสื่อน้อยกว่ามะเร็งชนิดอื่นๆ แต่มะเร็งชนิดนี้กลับพบมากเป็นอันดับต้นๆ ในบรรดาโรคมะเร็งที่เกิดกับผู้ชายทั่วโลก”
ต่อมลูกหมากคืออะไร : เป็นอวัยวะหนึ่งของระบบสืบพันธุ์เพศชาย อยู่ล้อมรอบท่อปัสสาวะส่วนต้น มีรูปร่างลักษณะคล้ายเม็ดเกาลัด หนักประมาณ 20 กรัม หน้าที่ของมันคือผลิตน้ำเมือกและหล่อเลี้ยงตัวอสุจิ
สาเหตุของมะเร็งต่อมลูกหมาก : ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่มะเร็งนั้นเกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์ต่อมลูกหมากมากขึ้นอย่างผิดปกติ ซึ่งมีโอกาสพบได้ในผู้ชายอายุประมาณ 50 ปีขึ้นไปและพบสูงขึ้นเรื่อยๆเมื่อผู้ป่วยอายุมากขึ้น ควรได้รับการตรวจต่อมลูกหมากประจำจากแพทย์ โดยขั้นต้นนั้นแพทย์จะซักถามอาการเกี่ยวกับระบบปัสสาวะของท่าน รวมทั้งตรวจคลำขนาด รูปร่าง ความยืดหยุ่น และความแข็งของต่อมลูกหมาก ซึ่งถ้าคลำได้ต่อมลูกหมากที่แข็ง ผิวขรุขระ โอกาสที่จะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากนั้นค่อนข้างสูงทีเดียว จากนั้นแพทย์จะเจาะเลือดเพื่อหาสารค่ามะเร็งของต่อมลูกหมากที่เรียกว่า PSA (Proslate Specific Antigen) สารนี้จะถูกผลิตออกมามากผิดปกติในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ถ้าระดับของ PSA ในเลือดสูงกว่าปกติ โอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากก็จะสูงตามไปด้วย ถึงตอนนี้แพทย์จะแนะนำให้ตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำไปตรวจทางพยาธิวิทยาต่อไปเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่
มะเร็งต่อมลูกหมาก แบ่งออกเป็น 4 ระยะ
- ระยะที่ 1 มะเร็งมีขนาดเล็กอยู่ในต่อมลูกหมาก จะไม่มีอาการในระยะนี้ ส่วนการตรวจทางทวารหนักมักไม่ค่อยพบ
- ระยะที่ 2 มะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ยังอยู่ในต่อมลูกหมาก คลำพบโดยการตรวจทางทวารหนัก จะมีอาการปวดปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลำบาก ต้องเบ่งปัสสาวะ
- ระยะที่ 3 มะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นจนอุดกั้นท่อปัสสาวะและกระจายออกนอกท่อ สามารถคลำพบได้โดยการตรวจทางทวารหนัก จะมีอาการปวดปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะลำบาก ต้องเบ่ง บางครั้งปัสสาวะไม่ออก
- ระยะที่ 4
4.1 มะเร็งลุกลามไปสู่ต่อมน้ำเหลืองรอบๆจะมีอาการปวดปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลำบากปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะเป็นเลือด ปวดหลัง ปวดกระตุก น้ำหนักลด อ่อนเพลีย อัมพาต
4.2 มะเร็งลุกลามไปกระดูก อวัยวะอื่นๆอาการจะเช่นเดียวกับระยะที่ 4.1
การรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก ตามระยะอาการของโรค มีดังนี้
ระยะแรกเริ่ม
คือ มะเร็งระยะที่ 1 และ 2 ระยะนี้เนื้อมะเร็งยังอยู่ในต่อมลูกหมาก ยังไม่แพร่กระจาย เราสามารถทำการรักษาให้หายขาดได้ โดยทั่วไปมี 2 วิธี คือ
- การผ่าตัดต่อมลูกหมากออกทั้งหมด ถือว่าเป็นการรักษาที่ได้มาตรฐาน มักใช้ในผู้ป่วยที่มีอายุไม่มาก ปัจจุบันนี้สามารถทำการผ่าตัดได้ทั้งแบบเปิดหน้าท้องหรือผ่าตัดแบบส่องกล้อง โดยใช้กล้องเจาะผ่านช่องท้อง (Laparoscopic Surgery)
- การรักษาทางรังสีเป็นการฉายรังสีเข้าไปยังตำแหน่งที่เกิดมะเร็ง โดยการฝังแร่ขาไปที่บริเวณต่อมลูกหมาก ลดความเสี่ยงไม่สามารถทนต่อการผ่าตัดได้ อย่างไรก็ตาม อาจะมีผลแทรกซ้อนเนื่องจากการฉายรังสี นั้นคือ ปัญหาการอุจจาระบ่อย เกิดการระคายเคืองที่ทวารหนัก ปัสสาวะลำบากและปัสสาวะบ่อยร่วมได้
ระยะกลาง
คือ ระยะที่ 3 เนื่องจากระยะนี้มะเร็งได้ลุกลามทะลุออกนอกเปลือกของต่อมลูกหมากแล้ว บางครั้งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองรอบๆ การรักษาจึงจำเป็นต้องใช้วิธีผสมผสานที่มกกว่า 1 วิธี เช่น อาจใช้การผ่าตัดร่วมกับการฉายแสง หรือให้ยาทางด้านฮอร์โมน ซึ่งวิธีเลือกการรักษาขึ้นอยู่กับระยะที่แน่นอนของโรค อายุผู้ป่วย และที่สำคัญคือดุลยพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านมะเร็งต่อมลูกหมาก การมุ่งหวังให้หายขาดในกลุ่มนี้จะน้อย แต่มีโอกาสบ้างในกรณีที่มะเร็งแพร่กระจายออกไปนอกเปลือกต่อมลูกหมากเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ระยะแพร่กระจาย
คือ ระยะที่ 4 เป็นระยะที่มะเร็งได้ลุกลามไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกายแล้ว การมุ่งหวังรักษาให้หายขาดจึงเป็นไปได้ยาก แต่เนื่องจากธรรมชาติของมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่โตช้า ดังนั้นแม้จะเป็นมะเร็งลุกลามไปแล้ว ถ้าให้การรักษาที่เหมาะสม ผู้ป่วยก็อาจจะมีอาการดีขึ้นหรือยืดระยะเวลาของการแพร่กระจายหรือเสียชีวิตออกไปได้พอสมควร
การรักษาที่นิยม
คือ การตัดเอาลูกอัณฑะออกทั้งสองข้าง หรือบางรายอาจให้ยาต้านฮอร์โมนเพศชายร่วมด้วย ซึ่งยาเหล่านี้จะยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ นอกจากนี้ ยังอาจให้การรักษาผสมผสานร่วมเป็นกรณีไป เช่น ถ้าผู้ป่วยมีอาการปวดกระดูก เนื่องจากมะเร็งแพร่กระจายไปที่ตำแหน่งใดอาจใช้การฉายรังสีรักษาเฉพาะที่เพื่อลดอาการเจ็บปวดก็เป็นได้
เหตุการณ์บางอย่างเราไม่สามารถเลือกได้ว่าจะเกิดหรือไม่เกิด แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เราเลือกได้ว่าจะมองความรู้สึกกับมันอย่างไร เช่นเดียวกับโรคมะเร็งต่อมลูกหมากโดยเฉพาะผู้ชายที่มีอายุ 50 ปี ขึ้นไป ขอให้ตรวจต่อมลูกหมากเป็นประจำทุกปี แม้ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ก็ตาม ซึ่งหากพบมะเร็งในระยะแรกจะได้มีโอกาสรักษาหายขาดได้