ไลฟ์สไตล์คนกรุงน่าห่วง ทำงานเร่งรีบ เครียด บริโภคอาหารฟาสต์ฟู้ด อ้วน ขาดการออกกำลังกาย เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน ส่วนใหญ่มักมีอาการเฉียบพลัน หากถึงมือแพทย์ช้าอาจเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตตลอดชีวิต
โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน หรือ Stroke เกิดจากภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เพราะมีการอุดตันของเส้นเลือดที่นำไปเลี้ยงสมองส่วนต่างๆ ส่งผลให้ขาดเลือด ส่งผลให้ขาดเลือดอยู่ในภาวะที่ทำงานไม่ได้ กลายเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน
อาการเบื้องต้นที่พบบ่อยของโรคสมองตีบตัน
1. ตาพร่ามัวมองเห็นภาพซ้อน
2. มีอาการชาครึ่งซีกอ่อนแรงและหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว
3. มีอาการแขนขาอ่อนแรง ครึ่งซีก ไม่มีแรงยกแขนยกขา
4. พูดลำบาก หรือ ฟังไม่เข้าใจ
5. การทรงตัวไม่ดี เดินเซ
6. กลืนลำบาก สำลักน้ำ
7. ปวดศีรษะ รุนแรงทันทีทันใดแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ซึ่งอาจจะแสดงอาการออกมาอย่างใดอย่างหนึ่งหรือมีอาการหลายอย่างพร้อมกันส่วนใหญ่โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน มักเกิดในกลุ่มวัยกลางคนขึ้นไป ซึ่งเป็นวัยที่กำลังสร้างฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม ผู้ที่เข้าข่ายเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจ เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดทำให้มีลิ่มเลือดหลุดไปอุดตันเส้นเลือดสมอง ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงจะทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองเร็วกว่าปกติผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์มากละเลยการออกกำลังกาย นอกจากนี้ฮอร์โมนบางอย่างโดยเฉพาะฮอร์โมนเพศหญิง จะทำให้หลอดเลือดดำในสมองอักเสบได้
การป้องกัน โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน
1. งดสูบบุหรี่
2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
3. ควบคุมอาหาร อย่าให้น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน
4. ถ้าเป็นเบาหวาน ควรรักษาระดับน้ำตาลให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด
5. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
6. ถ้าเป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรดูแลความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
7. หากมีอาการผิดปกติ เช่น แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดลำบาก เวียนศีรษะ มองเห็นภาพซ้อน ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
8. ควรตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจ เพื่อตรวจหาความเสี่ยงเพราะอาจเกิดลิ่มเลือดในหัวใจหลุดเข้าไปอุดตันในเลือดสมองได้
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน
สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญช่วยให้เกิดความสำเร็จในการรักษาโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน คือ การทำให้เซลล์ของสมองยังรอดอยู่ให้ได้นานที่สุด ถ้าเราสามารถทำให้เลือดไหลเวียนได้ทันเวลาและในระดับที่เพียงพอก็สามารถทำให้เนื้อสมองบริเวณนั้นฟื้นตัวได้เร็ว ส่งผลให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติได้ ซึ่งการรักษานี้จะต้องทำภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อให้ยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolysis) การให้ยานี้ผู้ป่วยควรอยู่ในความดูแลของผู้เชี่ยวชาญด้านสมองเท่านั้น หลังจากให้ยาแล้วผู้ป่วยโรคสมองตีบตันควรอยู่ในโรงพยาบาล 2-3 วัน เพื่อดูอาการต่อไปหากเกิน 3 ชั่วโมงแล้วผู้ป่วยควรได้รับการรักษาในหอผู้ป่วย โรคหลอดเลือดสมองเพื่อทำการรักษาด้วยวิธีการที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยมากที่สุด