“สตรีที่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ย่อมมีความตื่นเต้น ยินดี และกังวลเป็นอย่างมาก ซึ่งขั้นตอนของการดูแลครรภ์ต้องรีบฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆเพื่อจะให้ทราบภาวะต่างๆของการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย อาการต่างๆและโรค ที่พบในขณะตั้งครรภ์ เพื่อที่จะทำให้ปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและสามารถรักษาโรคบางอย่างได้ตั้งแต่เนิ่นๆ”
อาการของหญิงตั้งครรภ์
1. ปัสสาวะบ่อย มดลูกโตขึ้นและกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อย แต่ไม่ควรกลั้นปัสสาวะบ่อยๆ เนื่องจากจะทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ง่าย และทำให้กรวยไตอักเสบได้
2. คลื่นไส้อาเจียนหรือการแพ้ท้อง พบได้แต่ช่วงประจำเดือนเริ่มขาด อาจเป็นได้ตั้งแต่เช้า, ก่อนนอน, เวลาแปรงฟันหรือตลอดเวลาก็ได้ ควรรับประทานครั้งละน้อยๆแต่บ่อยๆ ไม่กังวลหรือเครียด ถ้ามีอาการมากควรปรึกษาแพทย์
3. อ่อนเพลียในสตรีตั้งครรภ์ จะรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อย ง่วงนอนตลอดเวลา ควรพักผ่อนให้มากๆ นอนหลับ 8-12 ชั่วโมง ต่อวัน และงดเว้นการทำงานหนัก
4. ท้องอืด เกิดจากกระเพาะอาหารและลำไส้เคลื่อนไหวลดลง จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ย่อยยาก อาหารหรือเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดลมหรือแก๊สมาก
5. ท้องผูก เกิดจากการเคลื่อนไหวของลำไส้ลดลง และมดลูกโตกดทับลำไส้ตรง ทำให้ท้องผูก ควรรับประทานอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก ผลไม้ให้มากขึ้นดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว ออกกำลังกายและขับถ่ายเป็นประจำทุกวัน ถ้าท้องผูกมากให้ปรึกษาแพทย์
6. ตกขาว พบได้ตรงตลอดระยะตั้งครรภ์เนื่องจากเลือดมาเลี้ยงในช่องคลอดมากขึ้น จึงขับมูกขาวออกมา ถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าตกขาวมามากผิดปกติ มีกลิ่น มีสีผิดปกติ หรือมีอาการคันร่วมด้วยควรปรึกษาแพทย์
7. เส้นเลือดขอด เกิดจากการที่มดลูกขยายตัวกดทับการไหลกลับของเลือดจากขา 2 ข้าง ทำให้เลือดคั่งอยู่บริเวณที่ต่ำกว่าตั้งแต่โคนขาลงมาจนถึงเท้า เมื่อเลือดคั่งอยู่นานทำให้หลอดเลือดโป่งพองขึ้น ควรนอนยกเท้าให้สูงกว่าลำตัวบ้าง ไม่ควรนั่งไขว่ห้างหรือนั่งห้อยเท้า เปลี่ยนอิริยาบถทุก 1 ชั่วโมง
8. ตะคริว มักเป็นที่ปลายเท้าและน่อง ซึ่งเกิดจากระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ และการไหลเวียนของเลือดที่ช้าลงควรนอนยกขาให้สูงแล้วนวด ใช้น้ำอุ่นประคบ รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม กุ้ง ปลาเล็กปลาน้อย ผัก ใบเขียว งา เป็นต้น
9. เด็กดิ้น สตรีตั้งครรภ์จะรับรู้เด็กดิ้น เมื่อตั้งครรภได้ 5 เดือน (ในท้องแรก) 4 เดือน (ในท้องหลัง) จะรู้สึกแผ่วๆเหมือนปลาตอด เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น จะดิ้นแรงขึ้นเรื่อยๆจนใกล้คลอดจะค่อยลดลงอีก ถ้าเด็กดิ้นน้อยกว่า 10 ครั้ง/วัน ควรรีบปรึกษาแพทย์
การปฏิบัติตัวของสตรีตั้งครรภ์
- 1. การพักผ่อน ควรนอนกลางคืนให้เต็มอิ่ม 8-12 ชม./คืน และพยายามนอนตอนบ่ายอีก 1-2 ชม.
- 2. การใส่เสื้อผ้า ควรสวมใส่เสื้อผ้าแบบสบายๆ หลวมไม่คับ แน่นและควรเปลี่ยนขนาดชั้นในตามขนาดทรวงอก
- 3. การสวมรองเท้า ห้ามใส่รองเท้าส้นสูงเกิน 1 นิ้วเพราะอาจจะทำให้หกล้มง่าย ใช้รองเท้าพื้นนุ่มๆเพราะจะเจ็บเท้าง่ายและปวดฝ่าเท้าจากน้ำหนักตัวที่มากขึ้น
- 4. การรักษาความสะอาดร่างกาย ระยะตั้งครรภ์จะรู้สึกร้อน และเหงื่อออกมาก ควรอาบน้ำวันละ 2 ครั้ง ถ้าอากาศเย็นควรอาบน้ำอุ่น ถ้าผิวแห้ง ให้ทาโลชั่นบำรุงหลังอาบน้ำทุกครั้ง ทาครีมที่หน้าท้องบ่อยๆเพื่อลดการแตกของผิว ขณะมดลูกขยายตัว
- 5. ระบบขับถ่าย ควรขับถ่ายอุจจาระสม่ำเสมอเพื่อขจัดของเสียต่างๆออกจากร่างกาย ควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่ายมีกาก เช่น ผัก ผลไม้ และดื่มน้ำมากๆ จะช่วยลดอาการท้องผูกได้
- 6. การออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงไม่ปวดเมื่อย คลอดง่ายและทำให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้น เช่น การเดิน การทำงานบ้านเบาๆ การบริหารร่างกายทำง่ายๆควรออกกำลังกายวันละ 15 นาที อย่างน้อย 3 วัน ต่อสัปดาห์ ห้ามออกกำลังกายหักโหม
- 7. การดูแลปากและฟัน คุณแม่ตั้งครรภ์จะมีปัญหาฟันผุ และเหงือกอักเสบได้ง่าย ควรพบทันตแพทย์เพื่อดูแลฟันในขณะตั้งครรภ์ แปรงฟันหลังรับประทานอาหารทุกครั้งและก่อนนอน
- 8. การดูแลเต้านม ขณะตั้งครรภ์เต้านมจะขยายขึ้น ควรเปลี่ยนชั้นในให้พอเหมาะถ้ามีปัญหาหัวนมสั้นหรือบอด ให้พยายามดึงหัวนมให้ยืดออกหรือปรึกษาแพทย์
- 9. การมีเพศสัมพันธ์ ไม่มีข้อห้ามในผู้ตั้งครรภ์ปกติแต่ควรงดใน 3 เดือนสุดท้ายก่อนครบกำหนดคลอดในรายที่เคยแท้งควรเว้นระยะใน 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
- 10. อาหาร ถ้ามีอาการคลื่นไส้อาเจียนให้ดื่มน้ำหรือนมหลังตื่นนอนทันที ก่อนลุกจากเตียง และรับประทานอาหารที่มีไอโอดีน เพื่อบำรุงสมองทารก น้ำหนักตัวควรเพิ่มเดือนละ 2 กก. เป็นอย่างน้อยไม่ควรมากกว่า 5 กิโลกรัม ต่อเดือน
สารอาหารที่ต้องการ
ใน 3 เดือนแรก คุณแม่ส่วนใหญ่จะมีอาการแพ้ท้องควรรับประทานอาหารแห้ง และไม่มีกลิ่นฉุน รับประทานอาหารย่อยง่าย ทีละนิด และบ่อยๆ ควรหลีกเลี่ยงอาหารมันและรสจัด
- โปรตีน ควรรับประทานมากกว่าปกติ เพื่อการเจริญเติบโตของทารกและซ่อมแซมส่วนสึกหรอของร่างกาย ได้แก่ เนื้อสัน, อาหารทะเล, ไข่, เต้าหู้, ปลา, เครื่องในสัตว์ และควรรับประทานไข่วันละ 1 ฟอง หรือเนื้อสัตว์ 2 ช้อนโต๊ะ หรือเต้าหู้ วันละ 0.5 หลอด เป็นต้น
- แคลเซียม ระหว่างตั้งครรภ์ต้องกรแคลเซียม 1,000-1,500 กรัมต่อวัน ดังนั้นควรดื่มนมวันละ 3-4 แก้ว ถ้าดื่มนมไม่ได้ ให้รับประทานปลาตัวเล็กๆ, กุ้งแห้ง, งา, เต้าหู้, ผักเขียว, ถั่วแดง เป็นต้น
- ธาตุเหล็ก ควรรับประทานเนื้อสัตว์ ผักใบเขียว ถั่วต่างๆ
- วิตามินและเกลือแร่ ควรรับประทานยาบำรุงทุกวัน รับประทานผัก ผลไม้ที่มีวิตามิน เช่น แครอท, ฟักทอง, ส้ม
อาการผิดปกติที่ควรปรึกษาแพทย์
- 1. คลื่นไส้ อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้ อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ
- 2. ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว จุกเสียดบริเวณยอดอก
- 3. ปัสสาวะแสบขัด มีไข้ หนาวสั่น ปวดหลัง
- 4. บวมตามหน้า มือ และเท้า
- 5. ตกขาวมีสีผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น คันช่องคลอด
- 6. เด็กดิ้นน้อยลง (น้อยกว่า 10 ครั้งต่อวัน)
- 7. มีเลือดออกทางช่องคลอด หรือ มูกปนเลือดออกทางช่องคลอด
- 8. มีน้ำใสๆออกทางช่องคลอด
- 9. ปวดท้องหรือท้องแข็งเกร็งบ่อยๆ ปวดท้องรุนแรง