“ในทุกๆ 1 ชั่วโมงจะมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง 3 คน”
เป็นสถิติที่น่าตกใจทีเดียวสำหรับอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองซึ่งนับวันจะยิ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โตยผู้ป่วยโรคนี้มีอัตราการเสียชีวิตมากถึงร้อยละ 20 และหากรอดชีวิต ร้อยละ 30 ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากผู้อื่นในการทำกิจวัตรประจำวันเนื่องจากเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ส่วนอีกร้อยละ 50 จะมีปัญหาด้านการพูดและการสื่อสารกับผู้อื่น จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่คุกคามต่อชีวิตและความเป็นอยู่ ดังนั้นคอลัมน์สุขภาพ (Health) ฉบับนี้นอกจากจะสร้างความตระหนักให้กับผู้อ่านถึงภัยสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อแล้ว ยังจะพามาศึกษาข้อมูลเพื่อหลีกเสี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคไปพร้อมกัน
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
นพ.ไพบูลย์ คงเสรีภาพ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สาขาประสาทวิทยา ของ รพ.วิภาราม ได้อธิบายว่า โรคหลอดเลือดสมอง คือ กลุ่มอาการของโรคที่มีความผิดปกติของหลอดเลือดสมองสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ 1.หลอดเลือดสมองตีบ เกิดจากการตีบ หรืออุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงเนื้อสมอง ส่งผลให้เนื้อเยื่อสมองส่วนที่ไม่ได้รับเลือดตาย 2.หลอดเลือดสมองแตก เกิดจากการแตกของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ทำให้เลือดที่ไหลออกมากไปกดทับเนื้อสมอง
ปัจจัยที่กำหนดให้เกิดโรค
ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งประกอบไปด้วยปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันไม่ได้ และปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้ ดังนี้
- อายุ เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นหลอดเลือดก็จะเริ่มเสื่อมตามไปด้วย เกิดการสะสมของไขมันและหินปูนรอบๆหลอดเลือด ทำให้เลือดนั้นถูกส่งผ่านหลอดเลือดไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง
- กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่โรคความดันโลหิต โรคไขมันในเลือดสูงโรคเบาหวาน
- บุหรี่ เป็นตัวทำลายผนังหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดแข็งตัว
- ขาดการออกกำลังกาย นอกจากนี้การเกิดการอุดตันของหลอดเลือดในสมอง มักสัมพันธ์กับโรคหัวใจบางชนิด เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ สิ้นหัวใจตีบหรือลิ้นหัวใจรั่วเกิดลิ่มเลือดในหัวใจ อิ่มเลือดหลุดจากหัวใจขึ้นไปอุดตันหลอดเลือดสมอง
อาการของโรค
โรคหลอดเลือดสมองเป็นความผิดปกติของร่างกาย มีสาเหตุมาจากการขาดเลือดไปเลี้ยงสมองอย่างทันทีทันใด ทำให้ผู้ป่วยแสดงอาการแตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงและตำแหน่งของสมองที่ถูกทำลาย ได้แก่หน้าเบี้ยวปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดอ้อแอ้ ลิ้นแข็ง ชาร่างกายครึ่งซีก เวียนศีรษะมากทรงตัวไม่อยู่
นอกจากนี้ นพไพบูลย์ คงเสริภาพ ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นชั่วขณะแล้วหายไปเองหรืออาจเกิดขึ้นได้หลายครั้งก่อนจะมีอาการสมองขาดเลือดแบบถาวร ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ควรรีบพบแพทย์ทันที ไม่จำเป็นต้องรอดูอาการ เพราะอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หรือ อาจกลายเป็นโรคอัมพาตอัมพฤกษ์ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองและต้องใช้เวลาในการรักษาฟื้นฟูสุขภาพเป็นเวลานาน
การรักษา
แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาตามสาเหตุของโรคนั้นๆ ว่าเป็นลักษณะของโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือหลอดเลือดสมองแตก ซึ่งจะมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันดังนี้ 1. หลอดเลือดสมองตีบ - ให้ยาสลายลิ่มเลือด (ต้องเดินทางมาถึงโรงพยาบาลภายใน 3 ชั่วโมง นับจากเริ่มมีอาการผิดปกติ) - ให้น้ำเกลือ - ให้ยา - สังเกตอาการทางระบบประสาท
2. หลอดเลือดสมองแตก
- ผ่าตัด
ทั้งนี้หลังการรักษาแพทย์อาจพิจารณาให้เข้ารับการกายภาพบำบัดเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อรวมถึงตัวผู้ป่วยก็ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างใกล้ชิด ควบคุมระดับน้ำตาล ความดันโลหิต รวมทั้งยังควรงดสูบบุหรี่ และออกกำลังกาย