การตรวจน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง
การดูแลรักษาตนเองเป็นหัวใจสำคัญของการควบคุมโรคเบาหวาน เพื่อลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ในอนาคต
ประโยชน์
การตรวจเลือดเพื่อหาระดับน้ำตาล เป็นการประเมินผลการดูแลรักษาเบาหวาน ทำให้เรารู้ว่าสามารถควบคุมโรคเบาหวานได้ดีเพียงใด ซึ่งสามารถทำได้ด้วยตนเอง โดยไม่ยุ่งยากและสามารถปรับยาอินซูลินเบื้องต้นได้เองตามคำแนะนำของแพทย์
การตรวจน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง เพื่อติดตามผลการรักษาเบาหวาน
ตรวจบ่อยแค่ไหน ?
ผู้กินยารักษาเบาหวาน
- ควรตรวจอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เวลาอาหารเช้าหรือก่อนอาหารเย็น - เมื่อมีอาการไม่สบาย เช่น เป็นไข้ ควรตรวจวันละ 4 ครั้งก่อนอาหาร 3 มื้อ และก่อนนอน - เมื่อมีอาการสงสัยว่ามีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำผิดปกติ ควรตรวจดูทันที
ผู้ที่ฉีดอินซูลิน
ควรตรวจวันละ 4 ครั้ง ก่อนอาหาร 3 มื้อ (อาจสลับตรวจหลังอาหาร เช้าหรือเย็นบ้าง) และก่อนนอน ถ้าไม่ได้ทำการตรวจ ดังนี้
- ถ้าฉีดอินซูลินชนิดออกฤทธิ์ปานกลาง (Intermediate acting) (น้ำขุ่น) วันละ 1-2 ครั้ง ควรตรวจเลือด วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้าและอาหารเย็น - ถ้าฉีดอินซูลินชนิดออกฤทธิ์สั้น (Short acting) หรือออกฤทธิ์เร็ว (Rapid acting) ควรตรวจเลือดก่อนอาหารมื้อถัดไปด้วย
การเจาะเลือดตรวจน้ำตาลจากปลายนิ้ว
ให้ตรวจดูวันหมดอายุของแผ่นตรวจและรหัส (Code) ของแผ่นตรวจให้ตรงกับรหัสของเครื่องก่อนทุกครั้งและลงมือเจาะเลือดตรวจน้ำตาล ดังนี้
- ล้างมือให้สะอาดเช็ดให้แห้ง - ทำฝ่ามือให้อุ่น - ทำความสะอาดปลายนิ้วด้วยสำลีชุบแอลกอฮอล์ ปล่อยให้แห้ง - ไล่เลือดจากโคนไปที่ปลายนิ้ว - เจาะด้านข้างของปลายนิ้ว - หยดเลือดลงให้เต็มแผ่นตรวจ - ตรวจตามขั้นตอนการตรวจของเครื่องแต่ละชนิด หรือแต่ละวิธี
การแปลผล
การแปลผลน้ำตาลในเลือดจากปลายนิ้ว ทำให้เรารู้ว่าตนเองสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับใด
น้ำตาลในเลือด (มก./ดล.) | เป้าหมาย |
ก่อนอาหาร | 80-130 |
หลังอาหาร | < 180 |
สัญลักษณ์ : < หมายถึง น้อยกว่า, > หมายถึง มากกว่า
***ควรบันทึกผลการตรวจลงสมุดแล้วนำไปให้แพทย์ พยาบาล และผู้เชี่ยวชาญเบาหวานประเมินผลการควบคุมเบาหวานทุกครั้ง เมื่อไปตรวจตามนัดเพื่อปรับปรุงแผนการดูแลรักษาให้ต่อเนื่อง