โรคข้อเข่าเสื่อม คือ ข้อเข่าที่มีความผิดปกติที่กระดูกผิวข้อและกระดูกบริเวณใกล้ข้อมีการเปลี่ยนแปลงด้านรูปร่างโครงสร้างชีวะเคมีและด้านชีวะพลศาสตร์ ทำให้การทำงานกระดูกอ่อนผิวข้อเสียไป เช่น กระจายแรงที่มาผ่านข้อเสียไป การเคลื่อนไหวผ่านผิวข้ออย่างนุ่มนวลเสียไปเกิดเสียงในข้อมีการเปลี่ยนแปลงของกระดูกที่อยู่ใกล้ข้อ เช่น มีกระดูกงอกทางด้านขอบของข้อ ทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ปวดข้อ ข้อฝืด ข้อแข็ง ข้อหลวม ข้อโก่ง บิดเบี้ยว และเส้นเอ็นอักเสบ
สาเหตุที่มีส่วนทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อม
- อายุมากขึ้น
- ข้อเข่าถูกใช้รับน้ำหนักมาก หรืออยู่ในท่าที่ถูกกดทับมากเกินไป เช่น นั่งคุกเข่า นั่งพับเพียบ
- มีการบาดเจ็บหรือโรคอื่นๆ ที่ทำให้กระดูกอ่อนตรงผิวข้อสึกกร่อน หรือมีความผิดปกติของกระดูกและข้อแต่กำเนิด
อาการ
- ปวดเข่าหรือปวดขัดในข้อ โดยเฉพาะเวลานั่งยองๆ แล้วลุกไม่ขึ้น
- เข่าอ่อนหรือเข่าขัดตึง เคลื่อนไหวข้อไม่สะดวก
- มีเสียงดังเวลาข้อเคลื่อนไหว
- ถ้าเป็นมากๆ หรือเรื้อรัง เข่าจะบวมและมีน้ำขังในข้อ บางรายจะผิดรูปเป็นขาโก่งเหมือนก้ามปูได้
การปฏิบัติเพื่อป้องกันเข่าเสื่อม
ในปัจจุบันโรคข้อเข่าเสื่อมยังไม่มียารักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันเข่าเสื่อมหรือป้องกันมิให้อาการกำเริบจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยปฏิบัติดังนี้
- ระวังอย่าให้อ้วน ถ้าอ้วนควรลดน้ำหนักตัว โดย
- กินอาหารที่มีคุณค่าครบถ้วน ปริมาณพอเหมาะไม่กินจุบจิบ
- ลดการกินอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล ไขมัน ของหวาน กะทิ เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารมันๆ และอาหารทอดชนิดต่างๆ
- ควรกินผักและผลไม้ที่มีรสหวานน้อยเพิ่มมากขึ้น
- ไม่ควรนั่งในท่างอเข่า เช่น พับเพียบ ขัดสมาธิ คุกเข่า นั่งยองๆ เป็นต้น ควรนั่งบนเก้าอี้ห้อยขา เหยียดตรง อย่านั่งนานๆ ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ
- หลีกเลี่ยงการใช้ข้อเข่า เช่น ยกขงหนักเกินกำลัง ยืนหรือเดินนานๆ การขึ้นลงบันไดบ่อยๆ หรือเล่นกีฬาที่หักโหม
- ควรฝึกออกกำลังกายกล้ามเนื้อเข่าเป็นประจำ เพื่อให้กล้ามเนื้อและเอ็นรอบเข่าแข็งแรง เพิ่มความทนทานในการใช้งาน ช่วยป้องกันและลดความพิการที่อาจเกิดขึ้นกับข้อเข่า
- เวลาเดินหรือวิ่งให้ใส่รองเท้าสำหรับเดินหรือวิ่งซึ่งจะรองด้วยพื้นกันกระแทก
- ใช้ไม้ค้ำเวลาจะลุก อย่าหยุดใช้งานเพราะจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- เวลาขึ้นบันไดให้ใช้ข้อที่ดีกว่าขึ้นไปก่อน เวลาลงให้ก้าวเท้าข้างที่ปวดลงก่อน มือจับราวบันไดทุกครั้ง
- ประคบอุ่นเวลาปวด
การรักษาโรคเข่าเสื่อม แบ่งออกเป็น 3 วิธี
- การรักษาทั่วไป
- การรักษาโดยการให้ยารับประทาน
- การรักษาโดยการผ่าตัด
การรักษาโดยการใช้ยา
หากการรักษาทั่วไปไม่สามารถลดอาการปวดเข่า จำเป็นต้องใช้ยาในการรักษาซึ่งมีหลายชนิดให้เลือก ดังนี้
- ยาแก้ปวด เป็นยาที่ลดอาการ แต่ไม่ได้แก้อักเสบพอหมดฤทธิ์ยาก็ปวดอีก เช่น ยา Paracetamol
- ยาแก้อักเสบ Steroid ยากลุ่มนี้นิยมใช้กันมากขึ้น แต่ต้องระวังการเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคความดัน โรคหัวใจ โรคกระเพาะอาหาร
- ยาบำรุงกระดูกอ่อน ได้ผลช้า ค่าใช้จ่ายสูงจึงไม่เป็นที่นิยม
- การใช้น้ำหล่อเลี้ยงข้อชนิดเทียม
การผ่าตัด
- การผ่าตัดโดยส่องกล้อง เหมาะสำหรับข้อที่เสื่อมไม่มาก แพทย์จะเอาสิ่งสกปรกที่เกิดจากการสึกออกมา
- การผ่าตัดแก้ความโก่งงอข้อเข่า วิธีนี้ต้องตัดกระดูกบางส่วนออก ทำให้ต้องใช้เวลานานกว่าจะใช้งานได้ ปัจจุบันนิยมลดลง
- การผ่าตัดใส่ข้อเทียม คือการใส่ข้อเข่าเทียมแทนข้อที่เสื่อม ซึ่งผลการผ่าตัดทำให้หายปวด ผู้ป่วยใช้ได้ดีขึ้น