แผลที่กระจกตา (CORNEAL ULCER)

ภาวะที่กระจกตาอักเสบเป็นแผล มักเกิดจากการติดเชื้อต่างๆ เช่น แบคทีเรีย เชื้อราและเชื้อไวรัส โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดตาเคืองตา แพ้แสง น้ำตาไหล ตาแดง และตาพร่ามัว อาจมีขี้ตาเหลืองเขียว ตรวจพบว่ามีแผลที่บริเวณกระจกตาเป็นรอยฝ้าสีเทาหรือสีขาว ในระยะที่มีการติดเชื้ออักเสบ เชื้อโรคอาจจะทะลุชั้นของกระจกตาเข้าไปทำให้เกิดการอักเสบภายในลูกตา กลายเป็นม่านตาอักเสบมีหนองขังอยู่ในช่องลูกตาด้านหน้า (Hypopyon) ลูกตาอักเสบ (Endophthalmitis) จนตาบอดได้ในบางรายอาจกลายเป็นแผลที่กระจกตา ทำให้การมองเห็นลดลง

            ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆที่พบได้ เช่น ต้อเห็น, ต้อกระจก ซึ่งมักพบในรายที่ได้รับยาปฏิชีวนะในขนาดความเข้มข้นสูงๆ เป็นเวลานานๆ หรือเกิดการติดเชื้อรุนแรงที่เข้าไปภายในลูกตา

            กระจกตาบางจนมีกระจกตาทะลุ ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อที่กระจกตา

  1. อุบัติเหตุที่ทำให้ได้รับการกระทบกระเทือนต่อกระจกตา เช่น แผลถลอกที่กระจกตาจากอุบัติเหตุการมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา เช่น เศษเห็น กรได้รับสารเคมีกระเด็นเข้าตา การถูกใบไม้บาดตา
  2. โรคทางตาต่างๆ ที่มีผลต่อกระจก เช่น ภาวะขาดวิตามินเอ ทำให้มีภาวะตาแห้งรุนแรง การแพ้ยา เช่น โรค Stevens Johnson Syndrome โรคของตาที่ทำให้ความไวต่อการรับรู้การสัมผัสของกระจกตาลดลง (Neurotrophiccornea) โรคภูมิแพ้ของตา (Allergic eye disease) การอักเสบเรื้อรังต่างๆที่ดวงตา ซึ่งโรคดังกล่าวทำให้กระตามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
  3. ความผิดปกติของเปลือกตา เช่น ขนตาทิ่ม (Trichealis) เปลือกตาอักเสบเป็นกุ้งยิง (Hordeolum) ภาวะที่ทำให้หลับตาได้ไม่สนิท (Lagorhthanos)
  4. โรคทางกายภาพต่างๆ ที่มีผลทำให้มีภาวะตาแห้ง เช่น โรคข้อรูมาตอยด์, SLE, HIV, เบาหวาน
  5. การใส่คอนแทคเลนส์
  6. การติดเชื้อจากเนื้อเยื้อใกล้เคียง
  7. การติดเชื้อที่กระจายมากจากกระแสเลือด
  8. การผ่าตัดที่ดวงตา โดยเฉพาะที่บริเวณกระจกตา
  9. การหยอดยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์

การรักษา

  • ต้องเริ่มให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะโดยเร็วที่สุดทันทีหลังจกทำการเพาะเชื้อจากแผล และย้อมเชื้อแล้วโดยแพทย์จะพิจารณาให้ยาที่ครอบคลุมเชื้อหลายชนิดก่อน และเมื่อทราบเชื้อว่าคือเชื้อตัวใดจึงเปลี่ยนหรือปรับยาที่เฉพาะต่อเชื้อนั้น โดยดูตามการตอบสนองของการรักษาของผู้ป่วยเป็นหลัก
  • หากมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น เช่น กระจกตาบางหรือทะลุ แพทย์ก็พิจารณาเพิ่มการรักษา โดยการผ่าตัด เช่น ใส่ GLUE บริเวณที่กระจกตาบาง ผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา (CORNEAL TRANSPLANT) ในบางรายที่ติดเชื้อรุนแรงมากๆ
  • นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดแผลที่กระจกตาดังกล่าวไว้แล้วข้างต้น เช่น หากผู้ป่วยมีขนตาทิ่มก็ต้องแก้ไขไม่ให้มีขนตาเกเข้ามาทิ่มที่กระจกตาด้วย
  • สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่กระจกตาจากการใส่คอนแทคเลนส์ ซึ่งเกิดจากการดูแลทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ที่ไม่เหมาะสม เช่น ใช้น้ำประปาล้างคอนแทคเลนส์ ผู้ป่วยใส่นอน มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อปรสิตบางชนิด ซึ่งเป็นเชื้อที่รุนแรงและรักษาได้ยากกว่าคนที่ติดเชื้อที่กระจกตาจากสาเหตุอื่นๆ ผู้ป่วยกลุ่มนี้หากรักษาภาวะติดเชื้อที่กระจกตาหายแล้ว ควรดูแลรักษาและทำความสะอาดคอนแทคเลนส์อย่างถูกต้องสุขลักษณะ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่ทำให้มีการติดเชื้อที่กระจกตาได้