การทำความสะอาดท่อเจาะคอส่วนในที่ทำจากโพลี่ไวนิลที่บ้าน

- ท่อเจาะคอที่ใช้ในผู้ป่วยมีหลายประเภท หลายขนาด ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกรูปแบบของท่อเจาะคอให้เหมาะสมกับผู้ป่วย ท่อเจาะคอที่ผู้ป่วยใส่กลับบ้านที่พบบ่อย มี 2 ประเภท คือ ท่อโลหะเหล็กไร้สนิม หรือท่อโลหะเงิน และท่อที่ทำจากโพลี่ไวนิล (Poly Vinyl) โดยทั่วไปจะมีท่อเจาะคอส่วนนอกและส่วนใน (ถอดทำความสะอาดได้)
- การทำความสะอาดท่อเจาะคอส่วนในที่ทำจากโพลี่ไวนิล (Poly Vinyl) เป็นการป้องกันเสมหะที่แห้งติดอยู่ภายในท่อ เกิดการสะสมของเชื้อโรค ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการทำความสะอาดท่อเจาะคอส่วนใน ควรทำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
อุปกรณ์และน้ำยาทำความสะอาดท่อเจาะคอส่วนใน
- 1. น้ำต้มสุกเย็นหรือน้ำกลั่น (Sterile Water)
- 2. แก้วหรือถาดที่มีฝาปิด (ต้มในน้ำเดือด 30 นาที)
- 3. น้ำยา 6% hydrogen peroxide
- 4. แปรงล้างท่อ
- 5. คีมคีบเหล็ก (ต้มในน้ำเดือด 30 นาที)
ขั้นตอนการทำความสะอาดท่อเจาะคอส่วนใน
- 1. ล้างมือ 7 ขั้นตอน (ขั้นตอนอยู่ในผนวก) ในกรณีที่ผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยาหรือมือผู้ดูแลเป็นแผลให้สวมถุงมือขณะทำความสะอาดท่อเจาะคอส่วนในทุกครั้ง
- 2. ใช้มือข้างหนึ่งจับแป้นท่อเจาะคอ และมืออีกข้างหนึ่งบิดท่อเจาะคอส่วนในทวนเข็มนาฬิกาเพื่อคลายเกลียว แล้วดึงท่อเจาะคอส่วนในออกมา
- 3. ทำความสะอาดท่อเจาะคอส่วนในด้วยแปรงขัดท่อให้สะอาด ไม่มีมีคราบเสมหะติด
- 4. นำท่อเจาะคอส่วนในที่ล้างแล้ว มาใส่ในแก้วหรือถาดที่มีฝาปิด แช่น้ำยา 6% hydrogen peroxide ขณะแช่ให้ปิดฝานาน 30 นาที
- หมายเหตุ : ในกรณีที่ผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ BiPAP/CPAP จำเป็นต้องมีท่อเจาะคอส่วนใน 2 ชิ้น ดังนั้นเมื่อถอดท่อเจาะคอส่วนในออกมาล้างให้สะอาด ดังข้อ 3. เก็บไว้ในภาชนะที่สะอาด เมื่อนำมาเปลี่ยนแทนท่อเจาะคอส่วนเดิมให้นำมาแช่ทำลายเชื้อและปฏิบัติดังข้อ 4.
- 5. ล้างมือ 7 ขั้นตอน (ขั้นตอนอยู่ในผนวก)
- 6. ใช้คีมคีบเหล็ก (ที่ต้มฆ่าเชื้อแล้ว 30 นาที) คีบท่อหรือใช้ไม้พันสำลีปราศจากเชื้อสอดเข้าไปในบริเวณหัวท่อเจาะคอส่วนในเพื่อนำท่อขึ้นจากน้ำยาที่แช่
- 7. หยิบบริเวณหัวท่อเจาะคอส่วนใน จากนั้นล้างด้วยน้ำต้มสุกหรือน้ำกลั่น (Sterile Water) โดยให้หัวอยู่ต่ำกว่าปลาย และระวังไม่ให้ปากขวดสัมผัสท่อเจาะคอส่วนใน จากนั้นสลัดหยดน้ำออกจากท่อ
- 8. ใส่ท่อเจาะคอส่วนในกลับเข้าไปในท่อส่วนนอกตามโค้งของท่อ โดยหมุนเกลียวไปด้านในเดียวกันกับลูกศร จนจุดสีฟ้าของท่อเจาะคอส่วนในและท่อเจาะคอส่วนนอกตรงกัน
ภาคผนวก
การล้างมือ 7 ขั้นตอน
- 1. ฟอกบริเวณฝ่ามือ
- 2. ฟอกฝ่ามือและง่ามนิ้วมือด้านหน้า
- 3. ฟอกหลังมือและง่ามนิ้วมือด้านหลัง
- 4. ฟอกนิ้วมือและข้อนิ้วมือด้านหลัง
- 5. ฟอกปลายนิ้วมือและเล็บ
- 6. ฟอกนิ้วหัวแม่มือ
- 7. ฟอกรอบข้อมือ
2.6 % hydrogen peroxide
1. ควรเปลี่ยนน้ำยาแช่ท่อทุกวัน 2. น้ำยาที่เปิดขวดแล้วมีอายุการใช้งาน 21 วัน