การดูดเสมหะในผู้ป่วยเจาะคอที่บ้าน (โดยใช้ถุงมือปราศจากเชื้อ) Tracheostomy Tube Suctioning

- “อากาศเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิต ถ้าเกิดปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถหายใจเองได้ตามปกติ ร่างกายจะขาดออกซิเจนและเสียชีวิตได้ แพทย์จึงจำเป็นต้องใส่ท่อเจาะคอเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย และเพื่อช่วยระบายเสมหะที่อุดกั้นทางเดินหายใจ”
ท่อหลอดลมคอ (Tracheostomy tube)
- คือท่อที่ใส่เข้าไปในหลอดลมคอ (Trachea) ภายหลังการเจาะคอ (Tracheostomy) โดยใส่ผ่านผิวหนังและกล้ามเนื้อคอ เพื่อให้อากาศสามารถผ่านเข้าสู่หลอดลมและปอดโดยไม่ต้องผ่านช่องจมูกและลำคอส่วนบน และเป็นทางให้ผู้ป่วยไอเอาเสมหะออกจากหลอดลม หรือดูดเสมหะออกจากหลอดลมได้
การดูดเสมหะในท่อเจาะคอ
- หลังการใส่ท่อเจาะคอ ผู้ป่วยจะต้องมีการระบายเสมหะออกทางท่อเจาะคอ ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถไอ ขับเสมหะออกมาได้เอง ผู้ดูแลต้องช่วยเหลือด้วยการดูดเสมหะออกทางท่อเจาะคอ
- การดูดเสมหะในท่อเจาะคอ ต้องดูดเสมหะก่อนที่ผู้ป่วยรับประทานอาหาร หรือในกรณีใส่สายให้อาหาร ควรดูดเสมหะก่อนให้อาหารทางสายยาง และในกรณีที่เสมหะยังคงมีจำนวนมาก ควรดูดก่อนรับประทานอาหารทุกมื้อ เพื่อป้องกันการไอ สำลัก ระหว่างรับประทานอาหารหรือระหว่างให้อาหารทางสายยาง
อุปกรณ์ที่ใช้ในการดูดเสมหะทางท่อเจาะคอ
- ถุงมือปราศจากเชื้อ
- สายดูดเสมหะปราศจากเชื้อ
- เครื่องดูดเสมหะพร้อมสายต่อ
- แก้วหรือภาชนะอื่น ๆ บรรจุน้ำสะอาด
วิธีการดูดเสมหะทางท่อเจาะคอ
- 1. ล้างมือให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง
- 2. จัดท่านอนให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนศีรษะยกสูง 30 องศา
- 3. นำอุปกรณ์ที่เตรียมไว้วางที่บริเวณข้างตัวผู้ป่วย
- 4. เตรียมเปิดเครื่องดูดเสมหะ ตั้งค่าแรงดันให้อยู่ในระดับ 100 – 120 mmHg และเตรียมสายดูดเสมหะไว้ข้างตัวผู้ป่วย
- 5. ใส่ถุงมือปราศจากเชื้อโดยเทคนิคปราศจากเชื้อ
- 5.1 เปิดกระดาษห่อถุงมือปราศจากเชื้อ

- 5.2 หยิบถุงมือปราศจากเชื้อ โดยจับได้เพียงบริเวณรอยพับ

- 5.3 สวมถุงมือโดยระวังไม่ให้ถุงมือโดนบริเวณอื่น ๆ

- 6. หยิบสายดูดเสมหะตามหลักเทคนิคปลอดเชื้อ

- 6.1 ฉีกถุงห่อสายดูดเสมหะไว้ (ก่อนใส่ถุงมือ) หรือให้ผู้อื่นฉีกให้

- 6.2 หยิบสายดูดเสมหะขึ้นมาโดยระวังไม่ให้ถุงมือและสายโดนสิ่งของอย่างอื่น และนำสายตาไปต่อกับสายต่อเครื่องดูดเสมหะ

- 7. ห้ามปิดบริเวณรูเปิดของข้อต่อสายดูดเสมหะ (finger tip) ก่อนใส่สายดูดเสมหะลงบริเวณท่อเจาะคอ เพื่อจะได้ไม่มีแรงดูดในขณะนั้น
- 8. ใส่สายดูดเสมหะลงในบริเวณท่อเจาะคอให้ลึกพอควร หรือใส่สายลงไปจนรู้สึกว่าสายชนบริเวณผนังเจาะคอ หลังจากนั้นดึงสายขึ้นมาประมาณ 1 เซนติเมตร และปิดบริเวณรูข้อต่อสายดูดเสมหะ (finger tip) เพื่อทำการดูดเสมหะขึ้นมา
- 9. จับสายดูดเสมหะวนเป็นวงรอบ ๆ ท่อเจาะคอเพื่อช่วยดูดเสมหะให้มากขึ้น ค่อย ๆ ดึงสายขึ้นอย่างช้า ๆ หลังจากนั้นให้ผู้ป่วยหยุดพัก การดูดเสมหะในแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 5 – 10 นาที ขณะดูดเสมหะให้สังเกตอาการผู้ป่วยและการหายใจ ถ้าหายใจแรงขึ้นมีอาการหอบเหนื่อยร่วมด้วยและสีหน้าแดงขึ้น ดูอึดอัด ควรหยุดพักการดูดเสมหะทันที รอจนอาการผู้ป่วยดีขึ้นจึงดูดเสมหะต่อ
- 10. ดูดเสมหะซ้ำจนกว่าจะไม่มีเสมหะหรือผู้ป่วยหายใจโล่ง
- 11. นำสายไปล้างในน้ำสะอาดเพื่อนำคราบเสมหะออก หากผู้ป่วยมีน้ำลายในปากมาก สามารถนำสายที่ล้างสะอาดแล้วไปดูดน้ำลายในปากได้
หลักสำคัญ
- ควรใส่ถุงมือปราศจากเชื้ออย่างถูกเทคนิคและไม่ควรสัมผัสสิ่งต่าง ๆ นอกจากสายดูดเสมหะเท่านั้น
- สายดูดเสมหะที่จะดูดเสมหะในท่อเจาะคอต้องเป็นสายที่ออกมาจากซองของสายเท่านั้น
- เสมหะที่ปกติควรเป็นสีใส หรือขาวขุ่น หากเป็นสีเหลืองหรือเขียวควรปรึกษาแพทย์พยาบาล

ข้อควรระวัง
- 1. ในบ้านที่มีแมลงหรือฝุ่นละอองมาก หรือจำเป็นต้องพาผู้ป่วยออกไปภายนอกในที่ที่มีฝุ่นละอองมาก ควรเย็บผ้าบาง ๆ คลุมบริเวณท่อเจาะคอไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งสกปรกลงบริเวณท่อเจาะคอ
- 2. จัดสภาพแวดล้อมบริเวณภายในบ้านหรือในห้องนอนของผู้ป่วยให้สะอาด และมีอากาศถ่ายเทได้ที
- 3. ควรระวังไม่ให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ เช่น เป็นหวัดเจ็บคอ อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย เพราะจะทำให้ผู้ป่วยได้รับเชื้อโรคได้ง่าย
- 4. ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหอบเหนื่อย เนื่องจากมีเสมหะค่อนข้างมาก ควรดูแลเบื้องต้นด้วยการพ่นยาตามแผนการรักษา และดูดเสมหะในท่อเจาะคอให้หมด ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นควรรีบพามาพบแพทย์