การทำความสะอาดท่อเจาะคอส่วนใน ท่อโลหะเหล็กไร้สนิม หรือท่อโลหะเงิน

ท่อเจาะคอ
- ท่อเจาะคอมีหลายประเภท หลายแบบ หลายขนาด ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกรูปแบบของท่อเจาะคอที่เหมาะสมกับผู้ป่วย ท่อเจาะคอที่ผู้ป่วยใส่กลับบ้านที่พบบ่อย มี 2 ประเภท คือ ท่อโลหะเหล็กไร้สนิม หรือท่อโลหะเงิน และท่อที่ทำจากโพลี่ไวนิล (Poly Vinyl)
- การทำความสะอาดท่อเจาะคอส่วนใน ท่อโลหะเหล็กไร้สนิม หรือท่อโลหะเงิน เพื่อการป้องกันเสมหะที่แห้งกรังติดอยู่ภายในท่อ เกิดการสะสมจนอุดตันท่อเจาะคอหรือกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค การทำความสะอาดท่อเจาะคอส่วนใน ควรทำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ถ้าเสมหะมากอาจถอดล้างได้บ่อยกว่านี้
อุปกรณ์ทำความสะอาด
- 1. แปรงล้างท่อ
- 2. หม้อต้มน้ำ
ขั้นตอนการทำแผลเจาะคอ
- 1. ล้างมือ 7 ขั้นตอน (ขั้นตอนอยู่ในภาคผนวก)
- 2. ใช้มือข้างหนึ่งจับแป้น และมืออีกข้างหนึ่งบิดตัวล็อคเพื่อปลดล็อคท่อเจาะคอให้ปลายชี้ขึ้นด้านบน
- 3. ใช้มือจับบริเวณปีกข้างใดข้างหนึ่งของท่อเจาะคอส่วนใน แล้วดึงท่อเจาะคอส่วนในออกมา
- 4. ทำความสะอาดท่อเจาะคอส่วนในด้วยแปรงขัด หากมีคราบเสมหะติดแน่นให้แช่ท่อเจาะคอส่วนในด้วยน้ำยา 6 เปอร์เซนไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ( 6% Hydrogen Peroxide) จนคราบเสมหะออกหมด แล้วจึงใช้แปรงขัดท่อให้สะอาด
- 5. นำท่อเจาะคอส่วนในที่ล้างแล้ว ต้มหลังน้ำเดือด 30 นาที โดยให้น้ำท่วมท่อเจาะคอส่วนใน
- 6. รินน้ำต้มสุกในหม้อออกให้มากที่สุด รอให้ท่อเจาะคอส่วนในเย็น
- 7. ล้างมือ 7 ขั้นตอน (ขั้นตอนอยู่ในภาคผนวก)
- 8. ใช้มือจับบริเวณปีกข้างใดข้างหนึ่งของท่อเจาะคอส่วนในขึ้นจากหม้อต้ม สลัดน้ำในท่อออกให้หมาด
- 9. ใส่ท่อเจาะคอส่วนในกลับเข้าไปในท่อส่วนนอกตามโค้งของท่อ
- 10. ใช้มือข้างหนึ่งจับแป้น และมืออีกข้างหนึ่งบิดตัวล็อคท่อเจาะคอให้ปลายชี้ลงด้านล่าง
ภาคผนวก
การล้างมือ 7 ขั้นตอน
- 1. ฟอกบริเวณฝ่ามือ
- 2. ฟอกฝ่ามือและง่ามนิ้วมือด้านหน้า
- 3. ฟอกหลังมือและง่ามนิ้วมือด้านหลัง
- 4. ฟอกนิ้วมือและข้อนิ้วมือด้านหลัง
- 5. ฟอกปลายนิ้วมือและเล็บ
- 6. ฟอกนิ้วหัวแม่มือ
- 7. ฟอกรอบข้อมือ