การปฏิบัติตัวระหว่างการตั้งครรภ์

 “สตรีที่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ย่อมมีความตื่นเต้น ยินดี และกังวลเป็นอย่างมาก ซึ่งขั้นตอนของการดูแลครรภ์ต้องรีบฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆเพื่อจะให้ทราบภาวะต่างๆของการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย อาการต่างๆและโรค ที่พบในขณะตั้งครรภ์ เพื่อที่จะทำให้ปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและสามารถรักษาโรคบางอย่างได้ตั้งแต่เนิ่นๆ”
      อาการของหญิงตั้งครรภ์      
      1. ปัสสาวะบ่อย
          มดลูกโตขึ้นและกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อย แต่ไม่ควรกลั้นปัสสาวะบ่อยๆ เนื่องจากจะทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ง่าย และทำให้กรวยไตอักเสบได้
      2. คลื่นไส้อาเจียนหรือการแพ้ท้อง
          พบได้แต่ช่วงประจำเดือนเริ่มขาด อาจเป็นได้ตั้งแต่เช้า, ก่อนนอน, เวลาแปรงฟันหรือตลอดเวลาก็ได้ ควรรับประทานครั้งละน้อยๆแต่บ่อยๆ ไม่กังวลหรือเครียด ถ้ามีอาการมากควรปรึกษาแพทย์
       3. อ่อนเพลีย
           ในสตรีตั้งครรภ์จะรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อย ง่วงนอนตลอดเวลา ควรพักผ่อนให้มากๆ นอนหลับ 8-12 ชั่วโมง ต่อวัน และงดเว้นการทำงานหนัก
       4. ท้องอืด
           เกิดจากกระเพาะอาหารและลำไส้เคลื่อนไหวลดลง จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ย่อยยาก อาหารหรือเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดลมหรือแก๊สมาก
       5. ท้องผูก
           เกิดจากการเคลื่อนไหวของลำไส้ลดลง และมดลูกโตกดทับลำไส้ตรง ทำให้ท้องผูก ควรรับประทานอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก ผลไม้ให้มากขึ้นดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว ออกกำลังกายและขับถ่ายเป็นประจำทุกวัน ถ้าท้องผูกมากให้ปรึกษาแพทย์
       6. ตกขาว
           พบได้ตรงตลอดระยะตั้งครรภ์เนื่องจากเลือดมาเลี้ยงในช่องคลอดมากขึ้น จึงขับมูกขาวออกมา ถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าตกขาวมามากผิดปกติ มีกลิ่น มีสีผิดปกติ หรือมีอาการคันร่วมด้วยควรปรึกษาแพทย์
       7. เส้นเลือดขอด
           เกิดจากการที่มดลูกขยายตัวกดทับการไหลกลับของเลือดจากขา 2 ข้าง ทำให้เลือดคั่งอยู่บริเวณที่ต่ำกว่าตั้งแต่โคนขาลงมาจนถึงเท้า เมื่อเลือดคั่งอยู่นานทำให้หลอดเลือดโป่งพองขึ้น ควรนอนยกเท้าให้สูงกว่าลำตัวบ้าง ไม่ควรนั่งไขว่ห้างหรือนั่งห้อยเท้า เปลี่ยนอิริยาบถทุก 1 ชั่วโมง
       8. ตะคริว
           มักเป็นที่ปลายเท้าและน่อง ซึ่งเกิดจากระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ และการไหลเวียนของเลือดที่ช้าลงควรนอนยกขาให้สูงแล้วนวด ใช้น้ำอุ่นประคบ รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม กุ้ง ปลาเล็กปลาน้อย ผัก ใบเขียว งา เป็นต้น
       9. เด็กดิ้น
           สตรีตั้งครรภ์จะรับรู้เด็กดิ้น เมื่อตั้งครรภได้ 5 เดือน (ในท้องแรก) 4 เดือน (ในท้องหลัง) จะรู้สึกแผ่วๆเหมือนปลาตอด เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น จะดิ้นแรงขึ้นเรื่อยๆจนใกล้คลอดจะค่อยลดลงอีก ถ้าเด็กดิ้นน้อยกว่า 10 ครั้ง/วัน ควรรีบปรึกษาแพทย์

      การปฏิบัติตัวของสตรีตั้งครรภ์     
1.การพักผ่อน ควรนอนกลางคืนให้เต็มอิ่ม 8-12 ชม./คืน และพยายามนอนตอนบ่ายอีก 1-2 ชม.
2.การใส่เสื้อผ้า ควรสวมใส่เสื้อผ้าแบบสบายๆ หลวมไม่คับ แน่นและควรเปลี่ยนขนาดชั้นในตามขนาดทรวงอก
3.การสวมรองเท้า ห้ามใส่รองเท้าส้นสูงเกิน 1 นิ้วเพราะอาจจะทำให้หกล้มง่าย ใช้รองเท้าพื้นนุ่มๆเพราะจะเจ็บเท้าง่ายและปวดฝ่าเท้าจากน้ำหนักตัวที่มากขึ้น
4.การรักษาความสะอาดร่างกาย ระยะตั้งครรภ์จะรู้สึกร้อน และเหงื่อออกมาก ควรอาบน้ำวันละ 2 ครั้ง ถ้าอากาศเย็นควรอาบน้ำอุ่น ถ้าผิวแห้ง ให้ทาโลชั่นบำรุงหลังอาบน้ำทุกครั้ง ทาครีมที่หน้าท้องบ่อยๆเพื่อลดการแตกของผิว ขณะมดลูกขยายตัว
5.ระบบขับถ่าย ควรขับถ่ายอุจจาระสม่ำเสมอเพื่อขจัดของเสียต่างๆออกจากร่างกาย ควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่ายมีกาก เช่น ผัก ผลไม้ และดื่มน้ำมากๆ จะช่วยลดอาการท้องผูกได้
6.การออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงไม่ปวดเมื่อย คลอดง่ายและทำให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้น เช่น การเดิน การทำงานบ้านเบาๆ การบริหารร่างกายทำง่ายๆควรออกกำลังกายวันละ 15 นาที อย่างน้อย 3 วัน ต่อสัปดาห์ ห้ามออกกำลังกายหักโหม
7.การดูแลปากและฟัน คุณแม่ตั้งครรภ์จะมีปัญหาฟันผุ และเหงือกอักเสบได้ง่าย ควรพบทันตแพทย์เพื่อดูแลฟันในขณะตั้งครรภ์ แปรงฟันหลังรับประทานอาหารทุกครั้งและก่อนนอน
8.การดูแลเต้านม ขณะตั้งครรภ์เต้านมจะขยายขึ้น ควรเปลี่ยนชั้นในให้พอเหมาะถ้ามีปัญหาหัวนมสั้นหรือบอด ให้พยายามดึงหัวนมให้ยืดออกหรือปรึกษาแพทย์
9.การมีเพศสัมพันธ์ ไม่มีข้อห้ามในผู้ตั้งครรภ์ปกติแต่ควรงดใน 3 เดือนสุดท้ายก่อนครบกำหนดคลอดในรายที่เคยแท้งควรเว้นระยะใน 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
10.อาหาร ถ้ามีอาการคลื่นไส้อาเจียนให้ดื่มน้ำหรือนมหลังตื่นนอนทันที ก่อนลุกจากเตียง และรับประทานอาหารที่มีไอโอดีน เพื่อบำรุงสมองทารก น้ำหนักตัวควรเพิ่มเดือนละ 2 กก. เป็นอย่างน้อยไม่ควรมากกว่า 5 กิโลกรัม ต่อเดือน
      สารอาหารที่ต้องการ           
          ใน 3 เดือนแรก คุณแม่ส่วนใหญ่จะมีอาการแพ้ท้องควรรับประทานอาหารแห้ง และไม่มีกลิ่นฉุน รับประทานอาหารย่อยง่าย ทีละนิด และบ่อยๆ ควรหลีกเลี่ยงอาหารมันและรสจัด
โปรตีน ควรรับประทานมากกว่าปกติ เพื่อการเจริญเติบโตของทารกและซ่อมแซมส่วนสึกหรอของร่างกาย ได้แก่ เนื้อสัน, อาหารทะเล, ไข่, เต้าหู้, ปลา, เครื่องในสัตว์ และควรรับประทานไข่วันละ 1 ฟอง หรือเนื้อสัตว์ 2 ช้อนโต๊ะ หรือเต้าหู้ วันละ 0.5 หลอด เป็นต้น
แคลเซียม ระหว่างตั้งครรภ์ต้องกรแคลเซียม 1,000-1,500 กรัมต่อวัน ดังนั้นควรดื่มนมวันละ 3-4 แก้ว ถ้าดื่มนมไม่ได้ ให้รับประทานปลาตัวเล็กๆ, กุ้งแห้ง, งา, เต้าหู้, ผักเขียว, ถั่วแดง เป็นต้น
ธาตุเหล็ก ควรรับประทานเนื้อสัตว์ ผักใบเขียว ถั่วต่างๆ
วิตามินและเกลือแร่ ควรรับประทานยาบำรุงทุกวัน รับประทานผัก ผลไม้ที่มีวิตามิน เช่น แครอท, ฟักทอง, ส้ม
 
      อาการผิดปกติที่ควรปรึกษาแพทย์            
1.คลื่นไส้ อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้ อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ
2.ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว จุกเสียดบริเวณยอดอก
3.ปัสสาวะแสบขัด มีไข้ หนาวสั่น ปวดหลัง
4.บวมตามหน้า มือ และเท้า
5.ตกขาวมีสีผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น คันช่องคลอด
6.เด็กดิ้นน้อยลง (น้อยกว่า 10 ครั้งต่อวัน)
7.มีเลือดออกทางช่องคลอด หรือ มูกปนเลือดออกทางช่องคลอด
8.มีน้ำใสๆออกทางช่องคลอด
9.ปวดท้องหรือท้องแข็งเกร็งบ่อยๆ ปวดท้องรุนแรง