โรคเบาหวานเป็นอย่างไร

โรค…เบาหวานเป็นอย่างไร?
              เป็นภาวะที่มีน้ำตาลในกระแสเลือดสูงกว่าปกติ จากการที่ตับอ่อนสร้างอินซูลินลดลงหรือไม่สร้างเลย ร่วมกับภาวะดื้อต่ออินซูลิน (อินซูลินออกฤทธิ์ลดลง) จัดเป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่หายขาด จำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำตาลให้ได้ตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนของเบาหวานทั้งชนิดเฉียบพลัน และเรื้อรังต่าง ๆ ในหลายอวัยวะ เช่น ตาบอด, ไตวายรื้อรัง, กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, อัมพาต สำหรับในประเทศไทยพบผู้ป่วยเบาหวานประมาณ 10 %
 
โรคเบาหวานมีอาการเริ่มต้นอย่างไร ?
            เมื่อมีน้ำตาลในเลือดสูงเล็กน้อยมักไม่มีอาการผิดปกติ อาจตรวจพบจากการตรวจสุขภาพประจำปี ภาวะน้ำตาลสูงมากอาจมีอาการได้หลายอย่าง เช่น ปัสสาวะบ่อย (มากกว่า 1 ครั้งต่อคืน) หิวน้ำบ่อย ทานอาหารมาก น้ำหนักลด อ่อนเพลีย ตาพร่ามัว ชามือ ชาเท้า แผลเรื้อรัง เชื้อราที่ผิวหนัง ตกขาว สมรรถภาพทางเพศเสื่อมหรืออาจพบอาการของโรคแทรกซ้อนของเบาหวานตั้งแต่วินิจฉัย
 
โรคเบาหวานมีกี่ชนิด ?
 1. โรคเบาหวานชนิดที่ 1
เป็นภาวะที่ตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เลย จำเป็นต้องฉีดอินซูลินสม่ำเสมอ พบได้ประมาณ 5-10% ของผู้ที่เป็นเบาหวาน มักพบในคนอายุน้อย น้ำหนักน้อย
 2. โรคเบาหวานชนิดที่ 2
เป็นชนิดที่พบมากที่สุด (ประมาณ 90  – 95%) มักเป็นจากกรรมพันธุ์ สามารถใช้ยาเบาหวานชนิดทานได้
 3. โรคเบาหวานที่มีสาเหตุเฉพาะ
จากกลุ่มโรคอื่น เช่น  MODY, Cushing, ยาบางชนิด, การติดเชื้อบางอย่าง (CMV, Rubella)
 4. โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
พบได้ประมาณ  2.1% ของการตั้งครรภ์ มักพบช่วงสัปดาห์ที่ 24 – 48 ของการตั้งครรภ์อาจส่งผลกระทบต่อมารดา และบุตรในครรภ์ได้
โรคเบาหวานมีวิธีการรักษาอย่างไร ?
            โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง รักษาไม่หายขาด การรักษามีจุดประสงค์เพื่อควบคุมน้ำตาลให้ได้ตามเป้าหมาย และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจจะตามมา การรักษามีหลายวิธีต้องปฏิบัติร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ ร่วมกับการติดตามการรักษาเป็นระยะ ได้แก่
            • การใช้ยารับประทานหรือยาฉีด
            • การออกกำลังกาย
            • การควบคุมอาหาร
            • การควบคุมน้ำหนัก
            • ควบคุมโรคที่พบร่วมกันบ่อย เช่น ความดันโลหิตสูง, ไขมันในเลือดผิดปกติ,
              โรคแทรกซ้อนของเบาหวาน
            • เรียนรู้ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวาน
 
โรคแทรกซ้อนของเบาหวานมีอะไรบ้าง ?
 โรคแทรกซ้อนของเบาหวาน แบ่งได้เป็นแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ได้แก่

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนเรื้อรังมีอะไรบ้าง ?

            หลังจากเป็นเบาหวาน 10 ปี มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังต่างๆ 20 – 80% ดังนั้นระยะเวลาที่เป็นเบาหวานมานาน, ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงและค่าน้ำตาลในเลือดเฉลี่ย (HbA1c) ที่สูงนับเป็นปัจจัยที่เสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนเรื้อรัง สำหรับปัจจัยอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเบาหวาน เช่น อายุ, พันธุกรรม, ความดันโลหิตสูง, ไขมันในเลือดผิดปกติ, การสูบบุหรี่, การตั้งครรภ์, น้ำหนักเกิน และภาวะดื้อต่ออินซูลิน ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนเรื้อรังด้วยเช่นกัน ดังนั้น การแก้ไขในปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ จะสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนเรื้อรังอย่างชัดเจน (ประมาณ 20 – 50%)

ยาลดน้ำตาลชนิดรับประทานมีกี่ชนิด ?
ยาลดน้ำตาลชนิดรับประทาน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ตามกลไกของการออกฤทธิ์ ได้แก่
1. กลุ่มที่กระตุ้นให้มีการหลั่งอินซูลินจากตับอ่อนเพิ่มขึ้น ( insulin secretagogue) ได้แก่
• ยากลุ่มซัลโฟนีลยูเรีย (sulfonylurea)  เช่น glipizde, gliclazide , gliquidone, glimepiride, glibenclamide ควรทานก่อนอาหาร 30 นาที และระวังการเกิดน้ำตาลในเลือดต่ำ
• ยากลุ่มที่ไม่ใช่ซัลโฟนีลยูเรีย (non – sulfonylurea หรือ glinide)  เช่น repaglinide, nateglinide ควรทานก่อนอาหารอีก 15 นาที และเหมาะสำหรับผู้ที่รับประทานอาหารเวลาไม่แน่นอน
• ยาที่ยับยั้งการทำลาย glucagon like polypeptide-1 (GLP-1) เช่น sitagliptin, vildagliptin มีความเสี่ยงน้อยต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
2. กลุ่มที่ลดภาวะดื้ออินซูลิน ได้แก่
• ยากลุ่ม biguanide เช่น metformin ถ้าใช้ชนิดเดียวโอกาสเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำน้อยมาก
• ยากลุ่ม thiazolidinedione (TZD) หรือ glitazone เช่น rosiglitazone, pioglitazone อาจทำให้เกิดอาการบวมน้ำและน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ 2-4 กิโลกรัม
3. กลุ่มที่ยับยั้งเอนไซม์การดูดซึมกลูโคสจากลำไส้ (alpha-glucosidase inhibitor) เช่น acarbose,voglibose เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาในการควบคุมน้ำตาลในเลือดหลังอาหาร