รู้เท่าทันรับมือโรคลมชัก

โรคลมชัก (epilepsy) เป็นหนึ่งในความผิดปกติทางระบบประสาทส่วนกลาง เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลันของคลื่นกระแสไฟฟ้าที่ออกมาจากกลุ่มเซลล์สมอง แล้ววิ่งผ่านผิวสมองส่วนต่างๆ เช่น อาการชัก (seizure) ในรูปแบบต่างๆ เช่น อาการเกร็ง กระตุก เกร็งและกระตุกหรือเหม่อ เป็นต้น ถ้าอาการซักมีมากกว่าหนึ่งครั้งโดยที่ไม่มีเหตุกระตุ้น (Unprovoked seizure) จะเรียกผู้ป่วยรายนั้นว่าเป็นโรคลมชัก (epilepsy)

สาเหตุของโรคลมชัก

               โรคลมชักสามารถเป็นได้ทุกช่วงอายุ แต่มักเริ่มเป็นในวันเด็ก ปกติมักจะไม่สามารถหาสาเหตุที่ชัดเจนได้ แต่ในผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะหากโรคลมชักในช่วงอายุมากขึ้น อาจมีความสัมพันธ์กับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสมอง เช่น เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง (stoke),เนื้องอกในสมอง และการบาดเจ็บอย่างรุนแรงที่ศีรษะ ๚ล๚

การวินิจฉัยโรคลมชัก

               โรคลมชักมักได้รับการวินิจฉัยภายหลังจากที่มีอาการชักมากกว่า 1 ครั้ง

ข้อมูลสำคัญที่สุดจำเป็นในการวินิจฉัยโรคลมชักคือรายละเอียดของอาการชักถามตัวผู้ป่วย หรือจากผู้ที่พบเหตุการณ์ ร่วมกับมีการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) ภาพถ่ายทางรังสี (CTScan, MRI) เพื่อช่วยระบุตำแหน่งของจุดกำเนิดชัก

เมื่อพบคนที่กำลังชักให้ตั้งสติ ไม่ตื่นเต้น ไม่งัด ไม่ง้าง ไม่ถ่าง ไม่กด ไม่ทั้งหมด ชักจะหยุดเอง เพียงแค่จับนอนตะแคงคลายเสื้อผ้าให้หลวมเมื่อหยุดชักให้นำส่งโรงพยาบาล

การรักษาโรคลมชัก

               ความเชื่อที่ว่า เวลาเจอคนชักให้ใช้ช้อนหรือวัสดุต่างๆ ใส่เข้าไปในปากผู้ป่วย เพื่องัดปากกั้นระหว่างฟันกับลิ้น ไม่ให้ผู้ป่วยเผลอกัดลิ้นตนเอง จนลิ้นขาดและเสียชีวิตนั้น เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะโอกาสที่ผู้ป่วยจะกัดลิ้นตนเองจนขาด มีน้อยมาก หรือเกิดบาดแผลที่ลิ้นก็ไม่ทำให้เสียชีวิต แต่การใช้ช้อนงัดปากกลับเพิ่มโอกาสที่ผู้ป่วยจะได้รับอันตรายจากฟันหัก แล้วฟันหรือวัสดุอื่นๆหลุดเข้าไปในทางเดินหายใจ

               ผู้ป่วยโรคลมชักส่วนใหญ่จะได้รับการรักษาด้วยยากันชัก โดยยาที่ใช้นี้ไม่ได้ทำให้โรคลิชักหายขาดแต่เป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมอาการชักระหว่างการใช้ยากันชัก อาจต้องใช้เวลาช่วงเวลาหนึ่งในการปรับชนิดยาและขนาดยาที่เหมาะสมก่อนที่จะสามารถควบคุมอาการชักได้

               ในผู้ป่วยบางรายที่ไม่ตอบสนองต่อยากันชักหรือมีจุดกำเนิดชักที่ชัดเจน อาจได้รับการพิจารณาผ่าตัดสมอง เพื่อเอาจุดกำเนิดชักออก โดยหวังผลสูงสุด คือ หายขาดจากโรคลมชัก

การใช้ชีวิตอยู่กับโรคลมชัก

               โรคลมชักไม่ใช่โรคติดต่อ ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชักสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขร่วมกับบุคคลอื่นในสังคมได้โดยรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอห้ามอดหลับอดนอน หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดอันตรายหากมีอาการชัก เช่น ขับรถ ว่ายน้ำ ปีนป่ายที่สูง ควรคุมกำเนิดและปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนตั้งครรภ์สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ รับประทานยากันชักอย่างต่อเนื่องและติดตามอาการกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ