องค์การอนามัยโลกได้ให้คำนิยามของโรคติดสุราไว้ว่า หมายถึง ภาวะที่ผู้ดื่มสุรา รวมทั้งเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมหลักอื่นๆ เช่น เบียร์ วิสกี้ ไวน์ ฯลฯ ดื่มเป็นประจำ โดยจะต้องมีลักษณะอาการต่างๆต่อไปนี้ตังแต่ 3 อย่างขึ้นไปคือ
- มีความต้องการดื่มอย่างมากจนไม่สามารถทนรอได้
- ไม่สามารถควบคุมตนองในการดื่มได้ ทั้งในแง่ของปริมาณและระยะเวลาที่ดื่ม
- มีการเพิ่มปริมาณสุราที่ดื่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากร่างกาย (สมอง) เกิดการดื้อแอลกอฮอล์
- เมื่อหยุดดื่มกะทันหันหรือลดปริมาณดื่มลงจะมีอาการทั้งร่างกายและจิตใจได้หลายอย่าง เช่น เหงื่อออก มือสั่น หงุดหงิดกระวนกระวาย ประสาทหลอน เพ้อหรือชักได้
- ไม่สนใจทำงาน หรือทำกิจกรรมในชีวิตที่เคยชอบทำแต่จะใช้เวลาไปกับการดื่มยาวนานขึ้น เมื่อหยุดดื่มต้องใช้เวลานานมากขึ้นกว่าจะสร่างเมา
- ยังคงดื่มสุราต่อไปทั้งๆ ที่ผู้ป่วยทราบว่าเกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างชัดเจนแล้วก็ตาม เช่น ตับแข็ง ตับอักเสบ ผลต่อความทรงจำ และระดับสติสัมปชัญญะซึ่งส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงาน
อาการทางคลินิกอันเนื่องมาจากการดื่มสุรา
ผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ ติดต่อกันเป็นเวลานานหลายเดือนหรือแรมปีรวมทั้งผู้ที่ดื่มเป็นครั้งคราวแต่ดื่มครั้งละมากๆ เช่น ดื่มวันสุดท้ายของสัปดาห์ งานฉลองต่างๆ จะมีอาการผิดปกติได้หลายระดับความรุนแรง ในที่นี้จะขอกล่าวอาการทางคลินิกที่จำเป็นต้องได้รับการบำบัด มิฉะนั้นอาจเกิดอันตรายได้
- ภาวะจากพิษแอลกอฮอล์ เกิดจากการดื่มสุราคราวละมากๆ จนแอลกอฮอล์ในเลือดสูงถึงระดับที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านการเคลื่อนไหวระดับรู้สึกตัว การควบคุมความคิด อารมณ์และพฤติกรรมโดยที่อาการจะเริ่มจากน้อยไปหามาก ดังนี้
- อารมณ์ครื้นเครงสนุกสนาน ตื่นเต้น
- ควบคุมความคิด อารมณ์ยับยั้งชั่งใจไม่ได้ เช่น พูดจาโอ้อวด ระรานผู้อื่น ลวนลามทางเพศ ก้าวร้าว ท้าตีท้าต่อย
- พูดจาออแอ้ เดินเซ ควบคุมกล้ามเนื้อแขนขาไม่ได้
- เพ้อ คลั่ง
- ซึมลงอย่างมาก หมดสติ
- ชัก หยุดหายใจ เสียชีวิต
ในกรณีหมดสติโดยไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ เมื่อตื่นขึ้นมาจะจำเหตุการณ์ในขณะเมาไม่ได้
- ภาวะเพ้อคลั่งและประสาทหลอน พบในผู้ที่ดื่มสุราในปริมาณมากติดต่อกันมาเป็นเวลานานมากเป็นปีๆ เมื่อหยุดดื่มทันทีที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งอันตรายถึงชีวิตได้ ผู้ป่วยจะมีอาการหลังจากหยุดดื่มประมาณ 2-4 วัน
- มือสั่น เหงื่อออกบริเวณใบหน้าเป็นอย่างมาก
- แขน ขา ลำตัวเริ่มสั่น เดินโซเซ
- ไข้สูง พูดจาเริ่มสับสนในเรื่องเวลา สถานที่ และบุคคล
- ท่าทางหวาดผวา ตกใจง่ายต่อเสียงกระตุ้น และแสงสว่าง
- หวาดระแวง หวาดกลัวคนปองร้าย
- เห็นภาพหลอน การแปลภาพผิดจากความจริง เช่น เห็นสายน้ำเกลือเป็นงู เห็นพยาบาลเป็นภูตผี
- ตรวจร่างกายจะพบความดันโลหิตสูง ชีพจรเต้นเร็วกว่าปกติ หายใจถี่ขึ้น
หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจมีอาการรุนแรงถึงขั้น ชัก เกร็ง หมดสติ หัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตในที่สุด ภาวะเช่นนี้ผู้ป่วยต้องอยูรักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้ได้รับสารอาหาร น้ำ วิตามิน ยารักษาอาการทางจิต ยารักษา อาการชักเกร็ง ยาลดไข้ และอื่นๆ ระยะเวลาในการรักษาประมาณ 10-14 วัน ถึงจะพ้นขีดอันตราย ส่วนอาการประสาทหลอนและอาการทางจิตอื่นๆ อาจใช้เวลานานกว่านี้
- กลุ่มอาการทางจิตอื่นๆ เป็นกลุ่มอาการทางจิตที่เกิดขึ้นในขณะดื่มภายใน 2 วัน อาการที่พบบ่อยคือ หวาดระแวงว่ามีคนปองร้าย ระแวงว่าคู่ครองนอกใจ ทำให้มีอาการหึงหวงรุนแรง หูแว่ว ได้ยินเสียงคนพูดจาข่มขู่ หรือเยาะเย้ยถากถางทำให้ตื่นกลัวหรือโกรธ ซึ่งเป็นอาการที่คล้ายคลึงกับผู้ป่วยโรคจิตประเภทชนิดหวาดระแวง บางรายอาจมีอารมณ์ครึกครื้นสนุกสนานอย่างมาก หรืออาจสับสัน ซึมลง ไม่ยอมพูดยอมจา บางรายอาจมีอาการหลายอย่างร่วมกัน อาการต่างๆ จะทุเลาลงในเวลา 1 เดือน แต่อาจหลงเหลืออยู่บ้างจนถึง 6 เดือน ผู้ป่วยบางรายอาจมีการทางจิตหลังจากหยุดดื่มมาแล้ว 2 สัปดาห์ กรณีเช่นนี้ ผู้ป่วยมักอาการผิดปกติด้านความจำ อารมณ์ พฤติกรรมและบุคลิกที่ต่างไปจากเดิม
- กลุ่มอาการหลงลืม ผู้ป่วยส่วนหนึ่งมีอาการหลงลืมเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านมาไม่นาน ส่วนความจำในอดีตยังคงปกติดีหรือสูญเสียบ้างเล็กน้อย ผู้ป่วยไม่สามารถลำดับเหตุการณ์ก่อนหลังได้ บางรายพยายามพูดกุเรื่องขึ้นมาให้สมจริง ผู้ป่วยไม่สามารเรียนรู้จดจำสิ่งใหม่ๆ ได้ บางรายบุคลิกภาพเปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งมักเป็นแบบเงียบขรึมลง ขาดความกระตือรือร้นในการทำงาน ไม่สนใจดูแลตัวเอง
การรักษา
แบ่งการรักษาออกเป็น 2 ขั้นตอนใหญ่ๆ คือ
- ขั้นแรก เป็นการรักษาอาการแทรกซ้อน ที่เกิดต่อร่างกาย รวมทั้งอาการทางจิตประสาทที่รุนแรงประกอบด้วยการให้สารอาหาร, วิตามิน, ยาบำบัดอาการทางจิตประมาทและยาบำบัดตามอาการอื่นๆ ดังได้กล่าวแล้วตามข้างต้น ระยะเวลาในการรักษาขึ้นอยู่กับชนิดของความผิดปกติตลอดจนสุขภาพร่างกายดั้งเดิมของผู้ป่วยรวมทั้งโรคประจำตัวต่างๆ เช่น เบาหวาน, โรคตับ, ความดันโลหิตสูง, โรคหัวใจ เป็นต้น โดยทั่วไปอยู่ระหว่าง 2-4 สัปดาห์ อาการบางอย่างอาจอยู่นานแรมเดือน แต่ผู้ป่วยสามารถรักษาตัวต่อที่บ้านได้
- ขั้นฟื้นฟูสมรรถภาพ ในที่นี้ หมายถึง การฟื้นฟูด้านกระบวนการความคิด การแก้ปัญหาในชีวิต การรับมือกับความกดดันต่างๆ โดยมีกระบวนการบำบัดรักษาหลักๆ 4 ประการดังนี้
- การให้ความรู้ เกี่ยวกับโรคติดสุรา เพื่อให้ผู้ป่วยมีความเข้าใจอย่างถูกต้องในเรื่องพิษภัยของสารแอลกอฮอล์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งขั้นตอนของการเกิด “ภาวะเสพติดสุรา” ทั้งนี้เพื่อให้เกิดแรงจูงใจที่จะเลิกดื่มอย่างถาวรและเต็มใจเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาในขั้นต่อไป
- พฤติกรรมบำบัด โดยใช้กิจกรรม “กลุ่มบำบัด” เป็นหลักคือการนำผู้ป่วยจำนวนระหว่าง 4-10 คน มาเข้ากลุ่มพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ทั้งดีและไม่ดี เสริมกำลังใจซึ่งกันและกัน เสนอข้อคิดเห็นที่มีประโยชน์และเรียนรู้แบบอย่างที่ดี กิจกรรมนี้อาจทำได้ทั้งแบบผู้ป่วยใน (อยู่รักษาในโรงพยาบาล) หรือแบบผู้ป่วยนอกโดยการมาพบปะกันสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ในระยะ 2-3 เดือนแรก ครั้งละประมาณ 1 ชั่วโมง และจะกระทำต่อไปจนกว่าผู้ป่วยจะหยุดดื่มสุราได้อย่างต่อเนื่องกัน 6 เดือน ถึง 1 ปี แล้วแต่กรณี
- ครอบครัวบำบัด คือการที่สมาชิกในครอบครัวที่มีปัญหาข้อขัดแย้งกับผู้ป่วย หรือมีความสำคัญในชีวิตของผู้ป่วยมาพบแพทย์เพื่อพูดคุยกับแพทย์หรือผู้รักษาเพื่อให้ทราบถึงรายละเอียดของปัญหาและแสวงหาทางออกร่วมกันกับผู้ป่วย ระยะเวลาขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาในแต่ละช่วง
- จิตบำบัด หมายถึง การช่วยเหลือผู้ป่วยให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาของตนเองได้ว่าเกิดจากสาเหตุใดบ้างและจะมีแนวทางในการแก้ปัญหาในแต่ละจุดอย่างไรบ้าง เป้าหมายหลักคือการทำให้ผู้ป่วยรู้จักบุคลิกภาพของตนเอง แก้ไขจุดอ่อนและนำจุดแข็งของตนเองออกมาใช้แก้ไขปัญหาในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ